posttoday

วุฒิสภา ชำแหละงบ54 เสี่ยงก่อหนี้-ขาดความสมดุล

03 กันยายน 2553

หมายเหตุ : ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ที่มี นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ในส่วนของนโยบายและภาพรวมการจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2554 ซึ่งวุฒิสภาจะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

หมายเหตุ : ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ที่มี นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ในส่วนของนโยบายและภาพรวมการจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2554 ซึ่งวุฒิสภาจะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

โดย.....ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

วุฒิสภา ชำแหละงบ54 เสี่ยงก่อหนี้-ขาดความสมดุล ภาพประกอบข่าว

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณขาดดุล โดยต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 4.2แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มจาก 42 % เป็น 52 %ถึงแม้ว่าจะยังไม่เต็มเพดานเงินกู้ซึ่งได้ตั้งไว้ที่ 60 %ดังนั้น หากสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นทุกปีรัฐบาลอาจมีปัญหาในการจัดทำงบประมาณในปีต่อๆ ไป จึงเห็นควรให้กระทรวงการคลังได้พิจารณาถึงการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศอย่างจริงจัง เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดเก็บภาษี เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลและลดการพึ่งพาเงินกู้ในระยะยาวได้ เพื่อให้งบประมาณเข้าสู่สมดุลโดยเร็ว

2.รัฐบาลควรปรับปรุงโครงสร้างสัมปทานหรือค่าภาคหลวงจากทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่เหมาะสม โดยเฉพาะค่าภาคหลวงจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ชนิดต่างๆ งบประมาณปี พ.ศ. 2554 ค่าภาคหลวงจากทรัพยากรของประเทศทั้งหมดมีมูลค่าเพียง 37,805.4ล้านบาท จากรายได้ 1.65 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 4 เท่า ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาเงินกู้ลงได้

3. แนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันมุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมุ่งหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจดีแล้วสังคมระดับชุมชนรากหญ้าจะมีความเข้มแข็งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไม่มีหลักประกันใดแสดงให้เห็นว่าเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีแล้วจะทำให้ชุมชนระดับรากหญ้ามีความเข้มแข็งตามไปด้วย ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นสู่ประชาชนระดับรากหญ้าเป็นหลัก

4.รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยการลดความซ้ำซ้อนของงานที่ปฏิบัติ และหน่วยงานใดที่มีภารกิจงานซ้ำซ้อนควรมีการยุบรวมหรือปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานให้มีความเหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐบาลต้องจ่ายเป็นรายจ่ายประจำ เช่น โครงการที่ดำเนินการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

5. การจัดสรรงบประมาณให้แก่กลุ่มจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด นอกจากการส่งเสริมด้านการเกษตรเป็นหลักแล้วควรดำเนินการส่งเสริมควบคู่กับด้านอื่น ๆ ที่ชายแดนภาคใต้มีศักยภาพ เช่น ด้านการท่องเที่ยวด้านการค้าชายแดน โดยการพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประเทศไทยไม่เสียเปรียบดุลการค้าชายแดน โดยกำหนดมาตรการต่าง ๆ เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวการบริหารจัดการด่านชายแดนอย่างเป็นระบบ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อขยายฐานการท่องเที่ยวชายแดนได้อีกแนวทางหนึ่ง

6. การจัดสรรงบประมาณสำหรับกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มยังไม่มีความเหมาะสมเมื่อเทียบกับมาตรฐานการจัดสรรงบประมาณในระดับสากล เช่น กลุ่มคนพิการที่ได้ไม่ถึง 1 %ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดซึ่งถือว่าต่ำมากเนื่องจากประเทศไทยมีประชากรที่เป็นผู้พิการจำนวน 10% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวให้มากขึ้น

7. โครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้กลไกด้านงบประมาณในการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด รัฐบาลควรให้ความสนใจโครงการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นการค้ามนุษย์ การเอารัดเอาเปรียบ การทำลายสิ่งแวดล้อม และควรประเมินถึงผลกระทบต่อสังคมด้วย

8. การเสนอของบประมาณของแต่ละหน่วยงานควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับงบการเงินในแต่ละปีของหน่วยงาน เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ทราบรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณย้อนหลังของหน่วยงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งต้องมีรายงานการเงินแผ่นดินประกอบการพิจารณาด้วยเพื่อให้ทราบถึงฐานะการเงินการคลังของประเทศ