posttoday

สมานฉันท์แบบ ‘เพื่อไทย’ ยึดแนวคณิต-พระปกเกล้า

21 มกราคม 2560

กลายเป็นประเด็นให้ต้องจับโดยเฉพาะภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาส่งสัญญาณ

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

กลายเป็นประเด็นให้ต้องจับโดยเฉพาะภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนจุดยืนผลศึกษาการปรองดอง ของ คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และของ สถาบันพระปกเกล้าฯ

หากส่องเนื้อสาระสำคัญของรายงาน คอป. ซึ่งได้ทำการศึกษาระหว่างเดือน ก.ค. 2553-ก.ค. 2555 โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานไว้ 4 มิติหลัก 1.การตรวจสอบและค้นหาความจริง (Truth Seeking) ได้แก่ การตรวจสอบและค้นหาความจริงและข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553

2.การเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความรุนแรง ประกอบด้วยการฟื้นฟูและการเยียวยา (Restoration) ได้แก่ การฟื้นฟูและเยียวยาสังคมไทย องค์กร สถาบันและบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยแนวทางความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restor ative Justice)

3.การศึกษาวิจัยรากเหง้าปัญหาของความขัดแย้ง ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อทำให้เกิดความกระจ่างกับรากเหง้าของปัญหาทั้งในทางกฎหมาย การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดความแตกแยกและความรุนแรงในสังคมในช่วงที่ผ่านมา และ 4.การสร้างความปรองดองและป้องกันมิให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก

โดยข้อเสนอแนะของ คอป. อาทิ สังคมไทยควรตระหนักว่าประเทศชาติได้รับความเสียหายและบอบช้ำจากปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมมาเป็นเวลานานแล้ว และควรนำวิกฤตการณ์ความรุนแรงในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อระลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น และร่วมกันประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้ประเทศต้องประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงอีก

ขณะเดียวกันยังเห็นว่าการเคลื่อน ไหวเพื่อผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด เป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดองและกระทบต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

โดยเฉพาะเหยื่อและผู้เสียหายที่จะได้รับผลกระทบตรงจากการนิรโทษกรรม คอป.ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง โดยเฉพาะสังคมมีความขัดแย้งสูง การนำนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง มีความเหมาะสมในแง่เวลา สถานการณ์ และกระบวนการ และต้องพิจารณาถึงองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

นอกจากนี้ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกองทัพและทหาร ขอเรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพวางตัวเป็นกลาง งดการก่อรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงทางการเมืองไม่ว่าในทางใด และสังคมหรือกลุ่มการเมืองจะต้องไม่เรียกร้องหรือสนับสนุนในเรื่องนี้ ทุกฝ่ายต้องยึดหลักการว่ากองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (Civilian Control)

สำหรับข้อเสนอของ สถาบันพระปกเกล้าฯ สิ่งที่ต้องริเริ่มดําเนินการ คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และทุกฝ่าย ช่วยกันสร้างบรรยากาศปรองดอง และไม่รวบรัดใช้เสียงข้างมากเพื่อแสวงหาทางออก โดยต้องร่วมกันสร้างเวทีทั่วประเทศเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนในวงกว้างต่อข้อเสนอ ทางเลือก และความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น และหาทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ดังนั้น กระบวนการพูดคุย (Dialogue) จึงเป็นหัวใจของการปรองดอง

อย่างไรก็ตาม การดําเนินการดังที่กล่าวจะประสบผลสําเร็จต้องอาศัยปัจจัยสําคัญ 3 ประการ 1.เจตจํานงทางการเมืองของผู้มีอํานาจรัฐที่จะสร้างความปรองดองโดยคํานึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสําคัญ 2.กระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องมีพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง

และประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นต่อทางออกและแนวทาง ป้องกันมิให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นความรุนแรงในอนาคต และ 3.ปัญหาใจกลางซึ่งเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งจะต้องได้รับการแก้ไขและแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาของประเทศไทย