posttoday

มติสนช.เอกฉันท์เห็นชอบร่างแก้รธน.ชั่วคราว

13 มกราคม 2560

สนช.เห็นชอบร่างแก้รธน. ปลดล็อคปมผู้สำเร็จราชการฯ ด้าน ‘วิษณุ’ แจงอดีตเคยมีธรรมเนียมแก้ร่างรธน.ก่อนประกาศใช้ ยันจะปรับเนื้อหาเฉพาะหมวดกษัตริย์

สนช.เห็นชอบร่างแก้รธน. ปลดล็อคปมผู้สำเร็จราชการฯ ด้าน ‘วิษณุ’ แจงอดีตเคยมีธรรมเนียมแก้ร่างรธน.ก่อนประกาศใช้ ยันจะปรับเนื้อหาเฉพาะหมวดกษัตริย์

วันที่ 13 ม.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 228 เสียงเห็นชอบในการให้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) นั้นทั้งคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 3 ดังนี้

“มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง  และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 มาตรา 19 และ มาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ”
  
สำหรับสาระสำคัญของมาตรา 18 19 และ20 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 คือ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ และในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

นอกจากนี้ ในมาตรา 4 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) คสช.และครม.ก็ได้แก้ไขเนื้อหาเช่นกัน กล่าวคือ โดยให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติตามข้อสังเกตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับได้ จากเดิมจะแก้ไขได้เฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตเท่านั้น

มติสนช.เอกฉันท์เห็นชอบร่างแก้รธน.ชั่วคราว

 

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงที่ประชุมสนช.ว่า สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งมายังรัฐบาลว่าได้มีข้อสังเกตบางประการ ซึ่งสมควรที่รัฐบาลจะรับไปดำเนินการ และเมื่อรัฐบาลได้พิจารณาข้อสังเกตร่วมกับคสช.เห็นเป็นข้อสังเกตที่สมควรที่จะดำเนินการไปในขณะนี้ เพราะหากผัดผ่อนที่จะรอดำเนินการต่อไป และสมมติว่าเมื่อรอให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วจึงค่อยดำเนินการแก้ไข แม้กลไกในทางกฎหมายจะทำได้ แต่ก็จะเกิดปัญหายุ่งยาก เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายแล้ว การจะแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางข้อความ หรือบางมาตรา หรือบางหมวดจำเป็นจะต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน และจะเป็นภาระผูกพันต่อไปอีกยืดยาว และจะกระทบต่อเรื่องอื่น ๆตามมาอีกหลายเรื่อง แต่ถ้าหากสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นประเด็นที่เล็กน้อยให้เสร็จสิ้นในขณะนี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงพิจารณาใหม่ ก็น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวง และน่าจะเป็นการเหมาะสม และไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาที่อาจจะมีผู้นึกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว การที่จะขอรับพระราชทานกลับมาปรับปรุงแก้ไขจะเป็นการชอบด้วยเหตุผลประการใด ขอเรียนว่าขั้นตอนทุกอย่างมีการกำหนดไว้ เมื่อรัฐบาลนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯเมื่อถวายแล้วทุกอย่างก็พ้นขั้นตอนสุดท้าย คือการตกอยู่ในพระราชอำนาจ ในฐานะองค์พระประมุข และผู้ที่จะทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐธรรมนูญใช้คำว่า “ทรงพิจารณา” และเป็นที่ทราบทั่วไปว่าจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใดก็ตามที่เมื่อที่นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่ทรงพิจารณา และเมื่อพิจารณาแล้วหากไม่ทรงเห็นชอบด้วยก็พระราชทานกลับคืนทั้งฉบับ ดังที่เกิดมาแล้วในอดีต เช่นในสมัยรัชกาลที่ 7 และในรัชกาลที่ 9 โดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และเป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะคิดอ่านดำเนินการต่อไปอย่างไร เช่นถ้าหากเห็นพ้องด้วยพระราชดำริก็ทำให้ร่างนั้นตกไป

“เพราะฉะนั้นรัฐบาลและคสช.จึงเห็นควรทำในบัดนี้ให้ถูกต้องและถูกกฎหมาย โดยถือว่าทั้งหมดตกอยู่ในขั้นตอนอยู่ในชั้นการใช้พระราชอำนาจ คือการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้มีข้อความที่ให้อำนาจความชอบธรรมแก่นายกฯที่จะขอพระราชทานนำกลับคืนมาแก้ไข แต่ถ้าหากเขียนลอยก็จะเป็นที่ครหาได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามตินายกฯจะนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขตามใจชอบหรืออย่างไร ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ในเมื่อเป็นเรื่องของการใช้พระราชอำนาจ ดั่งที่สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งมา จึงควรเป็นเรื่องที่ครม.หรือใครก็ตามที่ขอรับเรื่องกลับคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นที่เป็นไปตามหนังสือที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมาเท่านั้น หากจะมีอย่างอื่นพาดพิงออกไป ก็เป็นการเก็บประเด็นที่ตกค้างเกี่ยวเนื่องให้มันเสร็จสิ้นเท่านั้นเอง” นายวิษณุ กล่าว