posttoday

ศาลฎีกายกฟ้องเจิมศักดิ์หมิ่นทักษิณปิดคดีปฏิญญาฟินแลนด์

16 ธันวาคม 2559

ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง"เจิมศักดิ์"กับพวกไม่ผิดฐานหมิ่นทักษิณปมจัดเสวนา"ปฏิญญาฟินแลนด์"เพราะเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม

ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง"เจิมศักดิ์"กับพวกไม่ผิดฐานหมิ่นทักษิณปมจัดเสวนา"ปฏิญญาฟินแลนด์"เพราะเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม  
 
เมื่อวันที่16ธ.ค.59 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1818/2549 ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทย มอบอำนาจให้ นายนพดล มีวรรณะ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) , นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม. , นายชัยอนันต์ สมุทวณิช , นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ , บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ASTV , นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล , นายพชร สมุทวณิช , นายขุนทอง ลอเสรีวานิช กรรมการ บ.ไทยเดย์ฯ , บริษัท แมเนจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) , น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ดูแลเว็บไซต์แมเนเจอร์ เป็นจำเลยที่ 1-11 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328
         
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24-28 พ.ค. 2549 พวกจำเลย ร่วมกันจัดเสวนา เรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย"ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่การปกครองในระบอบทักษิณ โดยมุ่งหมายเข้าบริหารประเทศตามปฏิญญาฟินแลนด์ จำเลยปฏิเสธ
         
คดีนี้ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องจำเลย เพราะเห็นว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ โจทก์ (ขณะนั้น) ในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่ประชาชนทั่วไปสามารถพึงกระทำได้ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกา ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย
         
วันนี้ ศาลเบิกตัวนายสนธิ จำเลยที่ 1 มาจากเรือนจำคลองเปรม เพื่อฟังคำพิพากษา ขณะที่จำเลยอื่นมาศาล ขาดเพียงนายชัยอนันต์ สมุทวณิช นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ จำเลยที่ 3 ที่มีอาการป่วยหนักไม่ได้เดินทางมาศาล
        
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์ที่หนึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ได้จัดตั้งรัฐบาล มีโจทก์ทั้งสอง เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งโจทก์ทั้งสอง บริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา การบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้ง 2 ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนและผลประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งสถาบันสำคัญของชาติ จึงถือได้ว่า โจทก์ทั้งสอง เป็นบุคคลสาธารณะด้วย

การที่จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันเสวนาในหัวข้อเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย เป็นการนำเรื่องราวหรือหัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนั้นมาพูดคุยถกเถียงกัน ซึ่งเนื้อหาสาระประกอบด้วย หัวข้อเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้งสอง คือเรื่องการทำให้พรรคการเมืองหลักพรรคเดียว การปฏิรูประบบราชการ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน แม้จะไม่ปรากฏว่าหัวข้อดังกล่าว เป็นนโยบายที่โจทก์ที่ 2 แถลงต่อรัฐสภาหรือไม่ แต่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลของโจทก์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินอยู่
         
ทั้งนี้ จำเลยที่ 1-4 มีการหยิบยกเอาการกระทำที่ผ่านมาของโจทก์ที่ 2 มายืนยันว่ามีการกระทำหลายประการที่ไม่เหมาะสม เช่น ประเด็นหัวข้อที่อาจจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ลดบทบาทลงเป็นเพียงสัญลักษณ์ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นหัวข้อเสวนาเกี่ยวกับมีการพยายามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ แม้พยานโจทก์ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะได้เบิกความว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยมีแนวคิดหรือการกระทำดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสอง ก็มิได้นำสืบว่าโจทก์ไม่ได้มีการกระทำดังที่จำเลยที่ 1-4 ได้กล่าวยกตัวอย่างไว้ในการเสวนา จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 มีการกระทำดังที่กล่าวไว้จริง
         
การเสวนาดังกล่าวจึงเป็นการแสดงความเห็นอยู่บนมูลฐานของข้อเท็จจริง ที่จำเลยที่ 1-4 ไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้งสอง ขณะเดียวกันก็ยังมีบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ในบ้านเมือง เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็นต้น ที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการบ้านเมืองของโจทก์ทั้งสองในบางประการเช่นกัน ดังนั้นหัวข้อที่เสวนาจึงเป็นประเด็นที่สังคมยังมีการโต้แย้งถกเถียงกันอยู่
         
ส่วนประเด็นที่การเสวนามีการใช้ถ้อยคำเรียกโจทก์ที่ 1 ว่า แก๊งเลือกตั้งหรืออั้งยี่เลือกตั้งนั้นได้ความว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้กล่าวในการเสวนา เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 จะใช้ถ้อยคำรุนแรงไปบ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเกิดความเสียหาย ดังนั้นการเสวนาของจำเลยที่ 1-4 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือประชาชนย่อมกระทำได้ ตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา 329(3) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
         
ส่วนประเด็นที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ไม่เคยบริหารโดยใช้ปฏิญญาฟินแลนด์หรือยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ตามที่ได้ถูกกล่าวหา เห็นว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนบทความเรื่องยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ก่อนที่จะจัดการเสวนาดังกล่าวขึ้น ขณะที่ในการเสวนาก็ไม่มีผู้ใดยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 ได้ไปร่วมตกลงกับผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยที่ประเทศฟินแลนด์แต่อย่างใด ดังนั้น จำเลยที่ 1-4 จึงไม่ได้ใส่ความโจทก์ทั้งสอง และการเขียนบทความเรื่องยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์นั้น ก็เป็นคนละส่วนกับการเสวนาซึ่งโจทก์ที่2ได้แยกฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นอีกคดีหนึ่งแล้วไม่สามารถนำมาเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1-4ในคดีนี้ได้
         
ดังนั้น เมื่อการเสวนาของจำเลยที่ 1-4 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 5-9 และ 11 ที่โจทก์ระบุว่าเป็นผู้ร่วมจัดเสวนาและนำเอาถ้อยคำไปเผยแพร่ จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย พิพากษายืนให้ยกฟ้อง