posttoday

แนะบิ๊กตู่ตรวจสอบประมูลรถไฟทางคู่ ชี้เสี่ยงเอื้อประโยชน์-ล็อกสเปก

06 ธันวาคม 2559

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" แนะนายกฯตรวจสอบโครงการรถไฟทางคู่ ชี้วิธีประมูลส่อไม่ชอบมาพากล เสี่ยงเกิดข้อครหาเอื้อประโยชน์-ล็อกสเปก

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" แนะนายกฯตรวจสอบโครงการรถไฟทางคู่ ชี้วิธีประมูลส่อไม่ชอบมาพากล เสี่ยงเกิดข้อครหาเอื้อประโยชน์-ล็อกสเปก

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการ กทม.และ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Samart Ratchapolsitte ตั้งข้อสังเกตถึงการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ของรัฐบาล โดยระบุว่ามีความไม่ชอบมาพากลในวิธีการประมูลพร้อมเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบ ซึ่งข้อความทั้งหมดมีดังนี้

ประมูลรถไฟทางคู่ ส่งกลิ่น!

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พยายามเร่งรัดให้มีการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางกว้าง 1 เมตรทั่วประเทศ ซึ่งตามแผนแม่บทที่จัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มีรถไฟทางคู่ทั้งหมด 28 โครงการ แบ่งเป็น (1) ก่อสร้างทางรถไฟสายเดิมเป็นทางคู่ จำนวน 17 โครงการ และ (2 )ก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่เป็นทางคู่ จำนวน 11 โครงการ โดยรัฐบาลประยุทธ์ได้ประมูลเสร็จไปแล้ว 2 โครงการ กำลังอยู่ในระหว่างการประมูล 5 โครงการ ผมมั่นใจว่าท่านนายกฯ ประยุทธ์ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การประมูลมีความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ต้องการให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น แต่น่าเสียดายที่การประมูลโครงการรถไฟทางคู่อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ดีของท่าน

แว่วมาว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับวิธีการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ที่กำลังประมูลอยู่ในขณะนี้ทั้ง 5 โครงการ เพราะมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น กล่าวคือ โดยปกติผู้รับเหมาที่ได้งานก่อสร้างจะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการก่อสร้าง แต่สำหรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการใช้วิธีการแยบยลด้วยการจัดงบประมาณให้ผู้รับเหมาไปซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟบางรายการ แล้วให้ผู้รับเหมานำไปใช้ในงานก่อสร้างรถไฟทางคู่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อใช้เสร็จแล้วก็มอบให้ ร.ฟ.ท. โดย ร.ฟ.ท.ได้กำหนดไว้ว่า “ผู้รับจ้างต้องจัดซื้อจัดหาของใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานมาเพื่อใช้ในการก่อสร้างและส่งมอบให้ ร.ฟ.ท.”

เครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าวประกอบด้วย (1) รถอัดหินในทางทั่วไป (2) รถอัดหินในประแจ (3) รถเกลี่ยหิน และ (4) รถสั่นหิน ซึ่งมีมูลค่ารวมแต่ละโครงการกว่า 427 ล้านบาท หากรวมทั้ง 28 โครงการก็จะเป็นเงินถึงประมาณ 12,000 ล้านบาท

ร.ฟ.ท.ได้ระบุข้อกำหนดทางเทคนิคหรือสเปกของเครื่องมืออุปกรณ์ทั้ง 4 รายการ เพื่อให้ผู้รับเหมาจัดซื้อแต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ร.ฟ.ท.ไม่ได้แสดงรายละเอียดของสเปกดังกล่าวในขณะที่เปิดให้ผู้รับเหมาที่สนใจเข้าร่วมประมูลแสดงความคิดเห็นต่อสเปกว่าเหมาะสมหรือไม่ มีการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกันจริงหรือไม่ หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์รายใดรายหนึ่งหรือไม่ แต่ ร.ฟ.ท.จะแสดงรายละเอียดของสเปกเมื่อถึงขั้นตอนซื้อซองเอกสารประกวดราคา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว เพราะได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว ดังนั้น หากต้องการล็อกสเปกให้ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งก็จะสามารถทำได้ เพราะไม่มีการตรวจสอบนั่นเอง

เมื่อย้อนดูการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 2 โครงการที่ผ่านมา พบว่า ร.ฟ.ท.ใช้วิธีการนี้เช่นเดียวกัน กล่าวคือผู้รับเหมาต้องซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟทั้ง 4 รายการจากผู้ผลิตรายเดียวกัน เนื่องจากมีการกำหนดสเปกที่ปิดโอกาสผู้ผลิตรายอื่น

โดยสรุป ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 โครงการ มีดังนี้

1. ร.ฟ.ท.ลงทุนซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟ 4 รายการให้ผู้รับเหมาโดยใช้เงินของ ร.ฟ.ท. แล้วให้ผู้รับเหมาใช้เครื่องมืออุปกรณ์เหล่านั้นฟรี เมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็มอบให้ ร.ฟ.ท. ซึ่งในทางที่ถูกต้องผู้รับเหมาจะต้องจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านั้นโดยใช้เงินของผู้รับเหมาเอง เพราะผู้รับเหมาต้องใช้ในการก่อสร้างอยู่แล้ว หาก ร.ฟ.ท.อ้างว่าต้องการเป็นเจ้าของเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านั้นเพราะจะต้องใช้ในงานบำรุงรักษาในภายหลัง ร.ฟ.ท.ก็ควรที่จะเปิดประมูลจัดซื้อเอง โดยกำหนดสเปกให้เปิดกว้าง มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาไปช่วยซื้อให้ แล้วให้ผู้รับเหมานำไปใช้งานฟรีก่อนส่งมอบให้ ร.ฟ.ท. ซึ่งจะถูกครหาได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา

2. ร.ฟ.ท. ไม่ได้แสดงสเปกของเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟทั้ง 4 รายการ ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับเหมาที่สนใจเข้ายื่นประมูล ซึ่งอาจนำไปสู่การล็อกสเปกได้ เพราะผู้รับเหมาที่สนใจเข้าร่วมประมูลไม่ได้เห็นสเปกในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น จะคัดค้านก็ไม่ได้ มาเห็นก็ต่อเมื่อได้ซื้อซองเอกสารประกวดราคาแล้ว ซึ่งหากสเปกระบุไว้อย่างไรก็จะต้องปฏิบัติตามอย่างนั้น ไม่สามารถโต้แย้งได้ ถือว่าเป็นการ “มัดมือชก”

ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ผมจำเป็นต้องส่งเสียงไปถึงท่านนายกฯ ประยุทธ์ ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าท่านมีภารกิจมากมายอยู่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การประมูลดำเนินไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ที่ดีของท่าน และเพื่อให้การใช้เงินภาษีของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน