posttoday

สนช.เห็นชอบกม.ห้ามเรียกดอกเบี้ยโหด

25 พฤศจิกายน 2559

สนช.เห็นชอบกม.ห้ามเรียกดอกเบี้ยโหด หวั่นขรก.ตั้งตัวเป็นคนปล่อยกู้ หลังกฎหมายเปิดช่องไม่เอาผิด

สนช.เห็นชอบกม.ห้ามเรียกดอกเบี้ยโหด หวั่นขรก.ตั้งตัวเป็นคนปล่อยกู้ หลังกฎหมายเปิดช่องไม่เอาผิด

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน ได้ลงมติในวาระที่สามด้วยคะแนน 182 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ....เป็นกฎหมาย

นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด สมาชิกสนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 10 มาตรา มีการแก้ไข 3 มาตรา ซึ่งรัฐมีมาตรการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างบุคคลธรรมดา โดยไม่มีหลักประกัน ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยจัดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ปล่อยกู้กับภาครัฐ เช่นเดียวกับมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือ สินเชื่อฟิโคไฟแนนซ์ ซึ่งสามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยได้ถึงร้อยละ 36 ต่อปี โดยไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้ง ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามมาตรา 5 หากเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการสมคบกันตั้งแต่สองขึ้นไป อันเป็นการกระทำซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดฐานเป็นอั้งยี่ สมควรที่ผู้คับบังใช้กฎหมายจะดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่นั้นเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ทั้งนี้ คณะกมธ.ได้ตัดมาตราที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีการกระทำผิดในเรื่องนี้ออกจาก ร่างพ.ร.บ. โดยให้เหตุผลว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่แล้ว หากไม่ตัดทิ้งเป็นการเพิ่มโทษอีก ปรากฏว่าสมาชิก สนช.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการตัวข้อความดังกล่าวออก

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.อภิปรายว่า  ข้าราชการที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราต้องได้รับโทษขั้นรุนแรงถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีจิตสำนึกมากกว่าต้องได้รับโทษมากกว่าบุคคลอื่น จึงไม่ควรตัดทิ้งแต่ควรให้คงไว้ดั่งเดิม

เช่นเดียวกับนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช.ก็เห็นด้วย เนื่องจาก นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ มักจะมีอำนาจสูงสุดกว่าบุคคลทั่วไป และมีสิทธิพิเศษ บุคคลเหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม กมธ.ยังยืนยันว่า การที่ตัดคำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” ออกเพื่อไม่ให้กระทบต่อข้าราชการระดับล่างที่ไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ไม่ได้หมายรวมถึงหากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดจะไม่ถูกลงโทษ ซึ่งการกู้ยืมเงินจะมีความผิดทางแพ่งอยู่แล้ว ฉะนั้น หากรัฐเห็นว่าถ้าบุคคลใดทั้งข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจะมีโทษทางอาญาทุกตำแหน่งโดยไม่มีการละเว้น