posttoday

นายกฯยึดหลักร.9ทำงานตามขั้นตอนนำพาประเทศสู่การพัฒนายั่งยืน

28 ตุลาคม 2559

นายกฯขอบคุณยูเอ็นร่วมอาลัยในหลวงร.9สวรรคต ย้ำรัฐบาลยึดหลักการทรงงานตามขั้นตอนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

นายกฯขอบคุณยูเอ็นร่วมอาลัยในหลวงร.9สวรรคต ย้ำรัฐบาลยึดหลักการทรงงานตามขั้นตอนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืน
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน"ว่า ในนามของนายกรัฐมนตรี และปวงชนชาวไทยทุกคน พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งเป็นอย่างสูง ที่ประมุข และผู้นำประเทศ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ด้วยการลงนามถวายความอาลัย, การยืนสงบนิ่งไว้อาลัย และการลดธงครึ่งเสา การแสดงออกดังกล่าว นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและเห็นใจ ความรู้สึกของประชาชนชาวไทย ต่อการจากไปของ“พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่ง” ของพสกนิกรไทย ซึ่งเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการยกย่องในพระราชกรณียกิจ ที่ทรงทุ่มเท เพื่อประเทศชาติและประชาชน มาเป็นระยะเวลา 70 ปี ซึ่งยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์โลก  รวมทั้ง การยอมรับในหลักการทรงงาน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีคุณูปการอย่างยิ่ง ต่อมวลมนุษยชาติ

ขอขอบคุณและขอชื่นชม พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ที่ร่วมกันรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และแสดงออกถึงความจงรักภักดี ที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ด้วยการร่วมใจกันร้องเพลงสรรเสริญ ณ ท้องสนามหลวง และการทำดีเพื่อพ่อ ด้วยการทำหน้าที่ “จิตอาสา”ด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กว่า2 ปี ของการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลได้ประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยยึดถือ “หลักการทรงงาน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือ“ทำตามขั้นตอน” ดังพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 18กรกฎาคม2517 กล่าวโดยสรุป ก็คือ ให้เริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ การสาธารณสุข การดูแลตนเองขั้นต้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ให้ตนเองไม่เจ็บป่วย  มีสุขภาพที่แข็งแรง  เมื่อประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ จากนั้น จะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ  อาทิ ถนน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน  ทั้งนี้โดยต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุด
 
การเชื่อมโยง “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้น  ถือว่ารัฐบาล ประสบความสำเร็จ ในการสร้างความตระหนักและการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ   ทั้งในการประชุม G77,  G20 และ ACD  โดยนานาประเทศ ต่างเห็นพ้องกันว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นแนวทางหนึ่ง ที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น

1. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เพื่อแก้ปัญหาการขาดน้ำกินและน้ำใช้, การขาดที่ดินทำกิน ซึ่งมีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย เพื่อขจัดความจน สามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ก่อให้เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง  บรรลุเป้าหมายที่ 1 ของ SDG “การยุติความยากจน ทุกรูปแบบ ในทุกพื้นที่”

2. ธนาคารอาหารเป็นกิจกรรมจากกองทุนอาหารกลางวันแบบยั่งยืน  ให้เด็กนักเรียนทุกคนนำไปลงทุน เพื่อประกอบอาชีพทำการเกษตรและปศุสัตว์ขนาดเล็ก โดยโรงเรียนจะรับซื้อผลผลิต กลับมาเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน  รายได้ของนักเรียน สามารถเกื้อกูลฐานะทางครอบครัว และใช้ในการศึกษาเพิ่มเติม นับว่าเป็นการเรียนรู้ ในการประกอบอาชีพ อย่างครบวงจร ภายใต้หลักการ “เกษตรทฤษฎีใหม่”  บรรลุเป้าหมายที่ 2 ของ SDG ในเรื่องของ“การยุติความหิวโหย มีความมั่นคงทางอาหาร การยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน”

3. โรงเรียนพระดาบส จัดให้มีการสอนวิชาชีพ หลักสูตร 1 ปี  มุ่งให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง  เสริมด้วยทักษะชีวิต ให้สามารถดำรงตน ได้อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานแห่งความรู้ มีวินัย ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ เป็นต้น  บรรลุเป้าหมายที่ 4 ของ SDG “การให้การศึกษา ที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม และโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

4. กังหันชัยพัฒนา เป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ ลดกลิ่น น้ำไม่เน่าเสีย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้  บรรลุเป้าหมายที่ 6 ของ SDG คือ“การจัดให้มีน้ำ ที่ถูกสุขลักษณะ และมีการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน”

5. บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี จำกัด ดำเนินการตามรูปแบบ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” บนกลไก “ประชารัฐ”  ที่ไม่มุ่งเน้นผลกำไรจากการประกอบการ แต่ได้รับปันผล ในรูปแบบการพัฒนาชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ บรรลุเป้าหมายที่ 10 ของ SDG คือการ “ลดความไม่เสมอภาค ภายในและระหว่างประเทศ”

“หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีความเป็นสากลในตัวเอง เปรียบเสมือนวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจาก“โรค”ที่เกิดจากความประมาท ความไม่แน่นอน และความเสื่อมโทรม อันสืบเนื่องจากผลกระทบทางลบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถแบ่งปันตัวอย่างการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่ของใครหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง