posttoday

มธ.จัดรำลึก40ปี6ตุลาเสนอเอาทหารออกจากการเมือง

06 ตุลาคม 2559

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดรำลึก 40 ปี 6 ตุลา เสนอทหารกลับกรมกอง ออกจากการเมือง เพื่อสร้างสมดุล "รัฐบาล-สภา-ศาล"

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดรำลึก 40 ปี 6 ตุลา เสนอทหารกลับกรมกอง ออกจากการเมือง เพื่อสร้างสมดุล "รัฐบาล-สภา-ศาล"

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เวลา 08.00 น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์จัดงาน 40 ปี 6 ตุลา 2519 บริเวณสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เป็นเหมือนบทเรียนที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงแนวทางสันติประชาธรรม และไม่ลืมว่าคนไทยเคยเข่นฆ่ากันอย่างโหดร้ายทารุน เพราะความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน

"การมารวมตัวกันในวันนี้เพื่อระลึกถึงผู้สูญเสีย และเรียนรู้จากความผิดพลาด ซึ่งเป็นวิถีทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก" นายสมคิด กล่าว

จากนั้นได้ร่วมกันเปิดน้ำพุแห่งความหวัง แสดงถึง ความใฝ่ฝัน ความหวัง และเจตนารมณ์ของวีรชน 6 ตุลา และมีการวางพวงมาลา นำโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แทนองค์กรภาคประชาชน  

ต่อมา นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงสุนทรกถา เรื่อง "40ปี เปลี่ยนผ่านประเทศไทย: 40ปี เปลี่ยน-40ปีไม่ผ่าน?" ภายในงาน "40ปี 6 ตุลา 2519" ตอนหนึ่งว่า 40 ปีผ่านไป ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นปัญหาในตัวเองของมันเอง กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมในบริบทของสังคม

"ถ้าวันนี้การจัดงานจะมีประโยชน์สักนิดหนึ่ง ผมยังยืนยันว่าการฆ่าโดยรัฐไม่ใช่คำตอบ การใช้ความรุนแรงของรัฐไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะสะท้อนที่เกิดขึ้นจะมีอย่างยาวนาน การปลุกระดม การใส่ร้ายป้ายสี นำไปสู่ความแตกแยกขนาดใหญ่ แน่นอน 40 ปีวันนี้ ผมคิดว่าบทเรียน 6 ตุลา ถ้าจะทิ้งไว้บ้างก็คงต้องทิ้งไว้กับคนรุ่นปัจจุบัน ผมเชื่อเสมอว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นไม่มีจุดสิ้นสุด การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพไม่มีขีดจำกัด วันนี้คนรุ่นผมอาจจะอยู่ในวัยเกษียณ แต่วันนี้คบเพลิงของต่อสู้จากคนรุ่น 14 ตุลา 6 ตุลา กำลังส่งผ่านถึงมือคนรุ่นใหม่"

สำหรับทางออกของการเมืองไทย นายสุรชาติ เสนอว่า 1.ต้องเอาทหารออกจากการเมือง ถ้าเอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้ ไม่ต้องคิดเรื่องประชาธิปไตย 2.ทำให้รัฐบาล รัฐสภา และศาล กลับสู่ภาวะปกติหมายความว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองขององค์กรสามส่วนอยู่ภายใต้บริบทของการตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ใช่การตรวจจับและทำลายดุล และ3.3.คนรุ่นหลังจะเป็นนักประชาธิปไตยจะต้องเป็นนักยุทธศาสตร์และนักบริหาร มิเช่นนั้นท้ายที่สุดระบบการเมืองที่ขาดการบริหารจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองได้

"ย้ำว่าการเมืองไทยต้องไม่กลับไปสู่ภาวะของการตรวจจับและทำลายดุล เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นโครงสร้างรัฐบาลจะรองรับอะไรไม่ได้เลย เหมือนที่ท่านกำลังจะเห็นในอนาคต ยุทธศาสตร์ 20 ปีกำลังตอบเราว่าไม่ว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ใครจะมาเป็นรัฐบาล จะถูกครอบและกดทับด้วยยุทธศาสตร์ 20 ปี่ที่ไม่รู้ว่าใครร่างและคนร่างมีความรู้มากน้อยเพียงใด" นายสุรชาติ กล่าว

มธ.จัดรำลึก40ปี6ตุลาเสนอเอาทหารออกจากการเมือง