posttoday

"บิ๊กตู่"เผย2เดือนสปก.ยึดที่ดินคืนแล้ว28,000ไร่ใน6จังหวัด

16 กันยายน 2559

นายกฯเผย2เดือนสปก.ยึดที่ดินคืนแล้ว 28,000ไร่ใน6จังหวัดตั้งเป้าดำเนินการแล้วเสร็จในปี60จัดสรรให้เกษตรกรมีที่ทำกิน

นายกฯเผย2เดือนสปก.ยึดที่ดินคืนแล้ว 28,000ไร่ใน6จังหวัดตั้งเป้าดำเนินการแล้วเสร็จในปี60จัดสรรให้เกษตรกรมีที่ทำกิน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ผลการปฎิบัติภายใต้คำสั่งของคสช.ตลอดสองเดือนเกี่ยวกับการยึดคืนที่ดินซึ่งครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรได้มีที่ดินทำกิน สามารถยึดคืนได้ทันที 28 แปลง เนื้อที่ เกือบ 28,000 ไร่ใน 6 จังหวัด โดยไม่มีผู้คัดค้าน

สำหรับการปรับปรุงพัฒนาที่ดินจะต้องดำเนินการแบบ “บูรณาการ” หลายหน่วยงาน ดังนี้

(1) กรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงดินให้เหมาะสมมากขึ้นกับการเกษตรกรรม

(2) กรมชลประทาน พัฒนาแหล่งน้ำ ฝายทดน้ำ ระบบกระจายน้ำ

(3) กรมปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ซึ่งมีความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและการส่งออกปีละมากกว่า 2 แสนตัว

(4) กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน เป็นรายได้เสริม ระหว่างรอผลผลิตทางการเกษตรนะครับ

(5) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์

(6) คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะดูแลและสนับสนุนเพิ่มเติมให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด

(7) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมให้ความรู้ การทำปศุสัตว์ แนะนำการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาสู่ “การเกษตรแปลงใหญ่” ต่อไป

สำหรับพื้นที่มีจุดเด่นอยู่ใกล้ถนน ใกล้แหล่งท่องเที่ยว ก็อาจจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวการเกษตรได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวเข้ามาดูแลเพิ่มเติมอีกด้วย

ทั้งนี้ ตามแผนงานของ ส.ป.ก. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในต้นปี 2560 การดำเนินงานในระยะต่อไป

ช่วงที่เหลือของปี 2559 ก็จะดำเนินการยึดคืนพื้นที่เพื่อการพัฒนาตามแนวทางเบื้องต้นอีก จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 2,188 ไร่ ในจ.สุราษฏร์ธานี และ จ.นครราชสีมา ระยะสุดท้าย ห้วงปี 2560 ตาม Road Map เราจะแบ่งการดำเนินการยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อีก 28 แปลง เนื้อที่ประมาณ 28,000 ไร่

นอกจากนั้นยังได้มีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการบูรณาการทุกหน่วยงาน จะใช้ Agri-Map ช่วยในการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ และใช้รูปแบบ “สหกรณ์” เข้ามาดูแลพื้นที่ โดยได้จัดทำโมเดลการแบ่งสรรพื้นที่ ออกไปตามการใช้งานนะครับ เป็น 4 ส่วน คือ (1) พื้นที่อยู่อาศัย (2) พื้นที่ทำกิน (3) พื้นที่ส่วนรวม เช่น สำนักงานสหกรณ์ แปลงรวม ตลาดเกษตรกร เป็นต้น นะครับ แล้วก็ (4) พื้นที่ป่า ถ้ามีก็จะต้องช่วยกันดูแลป่าปลูกป่าเพิ่มเติม

นโยบายนี้ นอกจากจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลูกหลาน และการใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ และมีระเบียบแบบแผน ยังเป็นมาตรการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ขาดปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะ “ที่ดิน” ทั้งที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระดับฐานรากนะครับ ซึ่งเป็น “รากแก้ว”ของประเทศ และปลูกฝังการทำงานแบบบูรณาการ ของหน่วยงานราชการ การทำงานร่วมกันของชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ และกลไก “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นพื้นฐานการสร้างความเข้มแข็ง ความสามัคคี ให้กับชุมชนอีกด้วย