posttoday

มานิจ ชี้บทบาทสื่อเพื่อการปฏิรูปปท.ไม่ใช่ปฏิรูปสื่อ

20 สิงหาคม 2553

คณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ถกนัดแรก ดึงสื่อนสพ.-วิทยุ-ทีวี-เคเบิ้ล-เว็บ-วิชาการ เข้าร่วมระดมความเห็น มานิจ ย้ำ บทบาทสื่อเพื่อการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ ปฏิรูปสื่อ เสนอเปิดพื้นที่ รับฟังความเห็นประชาชนสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

คณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ถกนัดแรก ดึงสื่อนสพ.-วิทยุ-ทีวี-เคเบิ้ล-เว็บ-วิชาการ เข้าร่วมระดมความเห็น มานิจ ย้ำ บทบาทสื่อเพื่อการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ ปฏิรูปสื่อ เสนอเปิดพื้นที่ รับฟังความเห็นประชาชนสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมคณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) ครั้งที่ 1/2553 โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เป็นประธาน โดยมีสื่อมวลชนแต่ละแขนงร่วมเป็นคณะกรรมการฯ รวม 15 คน อาทิ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นายก่อเขต จันทร์เลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย รศ.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ สมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก โดยมี รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ เป็นเลขานุการ

โดยนายมานิจ แถลงภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ไม่ใช่การเข้ามาปฏิรูปสื่อ แต่เป็นการดึงสื่อมาช่วยปฏิรูประเทศ ทำหน้าที่ในการระดมความเห็นจากสื่อแต่ละแขนงเพื่อเสนอแนวทางต่อการปฏิรูปประเทศ ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ความเห็น รวมทั้งสนับสนุนบทบาทสื่อ ต่อการสร้างพลังทางสังคมเพื่อการปฏิรูป นอกจากนั้นจะมีการจัดสมัชชารับฟังความคิดเห็นจากสื่อทุกประเภททั่วประเทศ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ คสป. และเพื่อเสนอแนะรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ตนเชื่อว่า สื่อมวลชน เป็นพลังสำคัญที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนและร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

“คาดว่าภายหลังการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น และจัดเวทีสมัชชาสื่อในจังหวัดต่างๆ จะสามารถสรุปแนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และนำเสนอต่อ คสป. ได้ภายในสิ้นปี 2553 เพื่อนำเสนอในการประชุมใหญ่ คสป. ในช่วงต้นปี 2554” นายมานิจ กล่าว

ด้าน รศ.วิลาสินี กล่าวว่า คณะกรรมการการสื่อสารฯ ทำหน้าที่เชื่อมการทำงาน ความคิดเห็นจากคณะกรรมการอีก 13 ชุด ของ คสป. โดยมีโจทย์หลักคือ สื่อจะมีบทบาทสร้างสังคมที่เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างไร เนื่องจาก สื่อ สามารถสะท้อนความเห็นและปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในฐานะประชาชน และฐานะสื่อที่มีโอกาสได้เข้าไปเห็นปัญหา และติดตามความเคลื่อนไหวในสังคมมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ นอกจากนั้นที่ประชุมหารือในเบื้องต้นว่า นอกจากสื่อเป็นผู้สะท้อน และมีส่วนร่วมการสร้างสังคมที่เป็นธรรมแล้ว ผู้แทนองค์กรสื่อต่างๆ เห็นว่าสิ่งที่สื่อทำได้ทันที คือการปรับพื้นที่ ทิศทางรายการส่งเสริมเนื้อหาดีๆ เพื่อสร้างสังคม รวมไปถึงความพยายามที่จะปรับระบบเรตติ้งรายการให้ลดการเน้นผลกำไร เพิ่มรายการส่งเสริมสังคมให้มากขึ้น ที่ประชุมเสนอให้มีการขอความร่วมมือไปยังสื่อแต่ละแขนงเปิดพื้นที่ อาทิ ในหน้าหนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อรับฟังความคิดความเห็นจากประชาชน 

“ในที่ประชุมได้พูดคุยกันว่าต้องเจาะเข้าไปกลุ่มสื่อบันเทิงมากยิ่งขึ้น เพราะสื่อดังกล่าวเข้าถึงประชาชนมาก ซึ่งนายกสมาพันธ์ผู้จัดรายการวิทยุโทรทัศน์รับที่จะไปดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว” รศ.วิลาสินี กล่าว