posttoday

มติ“สนช.”ถอดถอน“ประชา” ต้องเว้นวรรค 5 ปี

19 สิงหาคม 2559

สนช. มีมติ182 ต่อ 7 เสียง ถอดถอน "ประชา ประสพดี" ออกจากรมช.มหาดไทย เหตุใช้อำนาจแทรกแซงองค์การตลาด ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี

สนช. มีมติ182 ต่อ 7 เสียง ถอดถอน "ประชา ประสพดี" ออกจากรมช.มหาดไทย เหตุใช้อำนาจแทรกแซงองค์การตลาด ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี

วันที่ 19 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน นายประชา ประสพดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นการลงมติถอดถอนหรือไม่ ด้วยวิธีการลงคะแนนลับด้วยการขานชื่อ ซึ่งหลังจากสมาชิกสนช. ลงมติเสร็จเรียบร้อยผลปรากฏว่าสนช.มีมติถอดถอน 182 เสียง ไม่ถอดถอน 7 เสียง สรุปว่าสนช.มีมติถอดถอนนายประชาออกจากตำแหน่ง จึงเป็นผลให้นายประชาต้องถูกตัดสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในหน่วยงานของรัฐหรือการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี

โดยกระบวนการถอดถอนนายประชา ออกจากตำแหน่ง เป็นไปตามมาตรา 6 วรรค2 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 สืบเนื่องจากกรณีที่นายประชา ใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงการทำงานขององค์การตลาด (อ.ต.) ในการพิจารณาลงโทษการทุจริตของนายธีธัช สุขสะอาด อดีตผอ.องค์การตลาด

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการลงมติในวันนี้ ในการประชุมสนช.เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ได้เชิญคู่กรณีทั้งฝ่ายคณะกรรมการป.ป.ช. และ ฝ่ายนายประชา เข้ามาแถลงปิดสำนวนให้ที่ประชุมสนช.รับทราบ 

โดยน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. แถลงปิดคดีว่า ยืนยัน ป.ป.ช.มีอำนาจพิจารณาถอดถอนนายประชาออกจากตำแหน่งตามกฎหมาย โดยพบว่า นายประชามีพฤติการณ์โทรศัพท์ไปสั่งการรองประธานคณะกรรมการ อต. เมื่อวันที่ 11 พ.ย.55 ขอให้ระงับการประชุมอต.ในวันที่ 12 พ.ย.2555 ที่มีวาระพิจารณาการเลิกจ้างนายธีธัช ออกไปก่อน ทั้งที่ช่วงนั้นนายประชาแม้จะเป็นรมช.มหาดไทย  แต่ยังไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลอต. จึงมีเจตนาแทรกแซงการทำงานในหน้าที่ของอต. ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 266 และ 268 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 และขัดหลักเกณฑ์บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของรัฐวิสาหกิจ  เพราะอำนาจการเลิกจ้างผู้อำนวยการอต.เป็นของบอร์ดอต. ไม่ใช่อำนาจของรมช.มหาดไทย  อีกทั้งต่อมา เมื่อบอร์ดอต.มีมติเลิกจ้างนายธีธัช   สร้างความไม่พอใจให้นายประชา  จนมีคำสั่งปลดบอร์ดอต.  แสดงถึงการใช้อารมณ์และอำนาจในการบริหารรัฐวิสาหกิจ เป็นการล้วงลูก ทำลายระบบบริหารงานรัฐวิสาหกิจร้ายแรง  ไม่ให้มีอิสระในการทำงาน  ถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงไม่จบสิ้น  จึงเข้าข่ายสมควรให้สนช.ลงมติถอดถอน

ขณะที่นายประชา ประสพดี อดีตรมช.แถลงปิดสำนวน โดยปฏิเสธทุกกล่าวหาของป.ป.ช. และยืนยันว่า การกระทำของตนตามที่ถูกกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี   มิได้มีเจตนาก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของอต.  และไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง หรือผู้อื่น ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่อต. จากสิ่งที่ได้นำเสนอตั้งแต่ตอนแถลงเปิดสำนวน การตอบข้อซักถามแล้ว ที่ขณะนั้นตนยังไม่ได้รับโปรดเกล้าในตำแหน่ง รมช.มหาดไทย  จึงไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบชุดดังกล่าว  และไม่เคยรู้จักหรือขัดแย้งกับคณะกรรมการองค์การตลาดดังกล่าว  เพียงแค่ต้องการให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยในฐานะรัฐมนตรีที่มีอำนาจกำกับดูแล แค่สั่งให้ผูกมิตรผูกไมตรีตามกรอบกฎหมายโดยขอให้ชะลอการประชุมเพื่อรอตนไปมอบนโยบายก่อน  จากนั้นจะทำอะไรก็ดำเนินการไปต่อด้วยความชอบธรรม  โดยไม่ทราบว่าเขาประชุมด้วยเรื่องอะไร  เพราะไม่เคยพบหรือคุยโทรศัพท์กับนายสัมพันธ์  ธรรมรัตน์ รองประธานซึ่งเป็นประธานกรรมการสอบ  การชะลอการประชุมก็ไม่ได้เป็นโทษร้ายแรงที่จะไปก่อโทษก่อประโยชน์กับผู้ใด ไม่ใช่ความโกรธแค้นไม่พอใจกับใคร

นายประชา กล่าวว่า  จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาเป็นเรื่องความเห็นต่างในข้อกฎหมายต่อการทำหน้าที่ของตนในฐานะรัฐมนตรีที่มีอำนาจกำกับดูแลอต.และรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่  และการลงมติของสนช.จะสิ่งสำคัญที่สุดต่อชีวิต ทั้งส่วนตัวและชีวิตการเมือง  แต่เชื่อมั่นและมั่นใจว่า สมาชิกสนช.ทุกคนจะมีความเมตตากรุณา โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรมที่จะให้โอกาสด้วยการลงมติหรือวินิจฉัยด้วยประการใด ตนเชื่อและยึดมั่นว่า กฎแห่งกรรมมีจริง  หากทำจริงจะต้องย่อยยับไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อผลออกมาอย่างไรก็พร้อมยอมรับในมติ

ภาพประกอบข่าว