posttoday

"สุริยะใส" ห่วงคนใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งทำประชามติเป็นโมฆะ

17 กรกฎาคม 2559

สุริยะใสห่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ เหตุคนออกเสียงไม่ถึงครึ่งทำขาดความชอบธรรม ตำหนิ กกต. เล่นบทตอบโต้ทางการเมืองมากเกินไป

สุริยะใสห่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ เหตุคนออกเสียงไม่ถึงครึ่งทำขาดความชอบธรรม ตำหนิ กกต. เล่นบทตอบโต้ทางการเมืองมากเกินไป

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ยังไม่คึกคักและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการลงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะอาจทำให้คนมาใช้สิทธิน้อยเกินไป และจะทำให้กระบวนการประชามติโมฆะหรือขาดฉันทานุมัติจนอาจกระทบต่อกระบวนการปฏิรูปได้

ประชามติครั้งนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคน จากเดิม 45 ล้านคนเป็นกว่า 50 ล้านคนซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะ กกต. ขยายเกณฑ์อายุ ผู้มีสิทธิลงประชามติ จากเดิมที่กำหนดให้มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการลงประชามติ เป็น มีอายุครบ 18 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการออกเสียงประชามติ  แต่ไม่มีกระบวนการใช้สิทธิล่วงหน้า อาจทำให้คนจำนวนมากหมดสิทธิ์ไปโดยปริยาย

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า กระบวนการประชามติที่ชอบธรรมต้องมีคนออกมาใช้สิทธิอย่างน้อยกึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่า 25 ล้านเสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะขนาดการลงประชามติเมื่อปี 2550 ที่มีการรณรงค์กันอย่างคึกคักมากกว่านี้ยอดผู้มาออกเสียงยังมีแค่ 57.6% หรือแค่ 25 ล้านกว่าเสียงเท่านั้น

สถานการณ์ที่เหลือแค่ 20 วันแบบนี้น่าเป็นห่วง จนป่านนี้ร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ถึงมือประชาชน ซ้ำร้ายบรรยากาศการรณรงค์ของฝ่ายต่างๆ ในขณะนี้ก็เต็มไปด้วยสีสันความขัดแย้งมากกว่าจะถกแถลงกันในเชิงเนื้อหาสาระจริงๆ และต้องตำหนิ กกต.ด้วยที่ไปจมอยู่กับการตอบโต้ทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่หน้าที่แต่อย่างใด และการที่ คสช. ปิดกั้นการรณรงค์มากไปถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะทำให้บางกลุ่มเคลื่อนไหวลงใต้ดิน ส่งผลให้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงยิ่งทำให้ประชาชนสับสนจนไม่รู้จะเชื่อใครดี ช่วงเวลาที่เหลือ 20 วันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงาน 24 ชั่วโมงเท่านั้นถึงจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิถึงเป้าได้