posttoday

นายกฯยินดีมมณเฑียรได้รับเลือกเป็นกรรมการยูเอ็น

24 มิถุนายน 2559

นายกฯยินดีมณเฑียรได้รับเลือกร่วมกก.สิทธิคนพิการในยูเอ็น ถือเป็นบุคคลตัวอย่างของสังคมไทยผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

นายกฯยินดี"มณเฑียร บุญตัน"ได้รับเลือกร่วมกก.สิทธิคนพิการในยูเอ็น ถือเป็นบุคคลตัวอย่างของสังคมไทยผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ แสดงความชื่นชม  นายมณเฑียร บุญตัน ไดรับเลือกเป็นกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ

"อีกบุคคลตัวอย่าง ที่ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทย ในการแสดงความยินดี ก็คือ คุณมณเฑียร บุญตัน ที่พิการทางสายตาแต่กำเนิด  ในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ สมัยที่ 9 ได้มีมติ “เห็นชอบ” ให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติอีกสมัยหนึ่ง(วาระ 4 ปี พ.ศ. 2560 – 2563) ด้วยคะแนนเสียง 102 คะแนน จาก 160 ประเทศ ได้เป็นลำดับที่ 4จากผู้สมัครเลือกตั้ง 18คน " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า  แสดงให้เห็นว่า ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ได้ประจักษ์ในศักยภาพ ผลงาน และความมุ่งมั่นในการคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิคนพิการของคุณมณเฑียรในประเทศไทย แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ เกิดในครอบครัวชาวนา แต่ไม่ยอมแพ้ชะตาชีวิตนะครับ   ปัจจุบันก็เป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2541 เป็นต้นมา เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา   เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปัจจุบัน
 
"ขอให้คุณมณเฑียรฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อผู้พิการของไทยและของโลก ในเวลาเดียวกันด้วยครับ   ด้วยความภูมิใจในหน้าที่ตำแหน่งที่ได้รับมอบ  รัฐบาลก็พร้อมจะให้การสนับสนุนบทบาทของนายมณเฑียรฯ ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ต่อไป"
 
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ในส่วนของรัฐบาล ก็ได้ผลักดันมาตรการต่างๆ และปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ที่สำคัญได้แก่  (1) การเข้าถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น การลงประชามติ 7 ส.ค.นี้ ก็มีวิธีการพิเศษ เฉพาะสำหรับคนพิการ (2) การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การคมนาคม ขนส่ง ข้อมูลข่าวสาร และบริการสาธารณะ เช่น ชุมชนต้นแบบอารยสถาปัตย์ “เกาะเกร็ด”และรถเมล์ชานต่ำ อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ผู้ชราหญิงมีครรภ์และเด็ก เป็นต้น
 
(3) การยอมรับความเท่าเทียมทางกฎหมาย ความเสมอภาคทางการศึกษา ด้านสุขภาพและการทำงาน เช่น มีศูนย์บริการนักศึกษาพิการ การกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการ ร้อยละ1  การรักษาพยาบาลฟรี และตู้KIOS แปลภาษามือ ตามสถานที่ราชการ โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า สำหรับให้บริการผู้พิการทางการได้ยินและการพูด เป็นต้น

(4) การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ขอยืนยันว่า ทรัพยากรบุคคล เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของประเทศชาติ หากได้รับการส่งเสริมในแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสมแล้ว ก็จะเป็น “พลัง ไม่ใช่ภาระของสังคม”