posttoday

ภาคประชาชน ระดมสมองสร้างสังคมธรรมาธิปไตย

05 มิถุนายน 2559

เครือข่ายวิชาการภาคประชาชนจัดระดมความเห็นปฏิรูปประเทศ "อาทิตย์" แนะสร้างสังคมธรรมาธิปไตย ไม่เอารัดเอาเปรียบ บริหารบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม

เครือข่ายวิชาการภาคประชาชนจัดระดมความเห็นปฏิรูปประเทศ "อาทิตย์" แนะสร้างสังคมธรรมาธิปไตย ไม่เอารัดเอาเปรียบ บริหารบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.เครือข่ายวิชาการภาคประชาชน ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมจัดประชุมทางวิชาการหัวข้อ"การจัดทำแผนรณรงค์และข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทย" โดยมีตัวแทนนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) สมาชิกวุฒิสภา และผู้แทนภาคประชาสังคม เข้าร่วมระดมความเห็น

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปิดงานและนำวิเคราะห์สถานการณ์ สังคมการเมืองไทย ปัญหาและทางออก ตอนหนึ่งว่า การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ไม่มีอามิสสินจ้างหรือต้องการตำแหน่งใดๆเพียงแต่มาด้วยความรักที่อยากเห็นประเทศมีความน่าอยู่ส่งต่อประเทศไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน

ทั้งนี้ ได้ตระหนักและเป็นห่วงว่าบ้านเมืองเพราะอยู่ในภาวะตกหล่มและติดหล่มทำให้เกิดความเสียหาย ประชาชนยากไร้ ไม่มีความสุข จนเกิดความแตกแยก ขัดแย้ง ส่งผลให้ประเทศไม่ไปไหน เสียโอกาสในการก้าวสู่โลกกว้าง

"การติดหล่มครั้งใหญ่นี้ถือเป็นวิกฤติ แม้ที่ผ่านมาทุกฝ่ายพยายามแก้ไขปัญหากันมาแต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยไปไหน ดังนั้น การระดมความเห็นครั้งนี้จึงเป็นเจตนารมณ์ในการริเริ่มการทำงานเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงโดยไม่ได้หวังต่อต้านใครหรือเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ประเทศไทยต้องเป็นฝ่ายเดียวกันและก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่างๆไปให้ได้"นายอาทิตย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องหาทางออกให้กับประเทศชาติและขับเคลื่อนสิ่งที่คาดหวังตั้งไว้ว่า น่าจะมีกระบวนการที่เรียกว่าสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยเกิดขึ้น โดยอาสามาเป็นสถาปนิกและวิศวกรเพื่อสร้างสรรค์ ตกแต่งให้กับประชาชน ซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของประเทศและเจ้าของบ้าน เพื่อวาดฝันประเทศชาติไว้อย่างไร อาสามาที่จะออกแบบเพื่อให้เห็นชอบร่วมกันโดยไม่ได้จับผิด ตำหนิ หาเรื่อง หรือทะเลาะกับใครทั้งสิ้น แต่มาสร้างรูปแบบและหาทางออกของประเทศให้ออกมาดีที่สุด

"หากเราดำเนินการลักษณะองค์รวมที่เป็นความเห็นชอบร่วมกันของประชาชนทุกคนผมมองว่าน่าจะเป็นทางออกโดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาความปรองดองใดๆหรือไปทำพิธีกรรม วาทะกรรม หรือวิธีการทำประชามติก็ดี ที่จะแสวงหาความปรองดอง แต่เราจะได้สิ่งที่เรียกว่าฉันทามติโดยอัตโนมัติ คิดว่าเราคงจะมีความเห็นตรงกันว่าอยากเห็นประเทศชาติเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเราเรียกว่าอะไร แต่ผมเชื่อว่าในใจของเราเห็นแล้วว่าอยากจะเป็นอย่างไร"อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

นอกจากนี้ ส่วนตัวอยากลองเสนอว่าฝันรูปร่างหน้าตาของประเทศชาติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่หรือเติมแต่งกันแบบใดให้สมบูรณ์แบบ ให้เป็นสวรรค์บนดิน ตนอยากจะเรียกบ้านเมืองนี้ว่า สังคมธรรมาธิปไตย คือ เป็นสังคมแห่งความดีงาม สงบสันติสุข อุดมสมบูรณ์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ไม่ใช่สังคมที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา  การบริหารบ้านเมืองต้องเป็นธรรม มีคุณธรรมจริยธรรม ยุติธรรม ธรรมาภิบาล ประชาชนมีความสุข มีโอกาสทัดเทียมกัน มีความสามารถในการประกอบอาชีพอย่างมีศักดิ์ศรี  เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงให้ประชาชนมีความสุขทั่วหน้าจะได้ไม่มีเรื่องร้องเรียน

นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเป็นแบบนี้อาจมาตรวจสอบว่าปัจจุบันเป็นแบบนี้แล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่เป็นไปตามนี้ จึงเป็นภารกิจของทุกคนในการมาออกแบบร่วมกันเพื่อให้เป้าหมายคือประชาชนได้มีความสุขอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการประชุมในการมาเป็นผู้เริ่มก่อตั้งกระบวนการต้นแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง แม้ที่ผ่านมาจะมีวาทกรรมหลายแบบ แต่ไม่เป็นวาทกรรมที่ให้ประชาชน 70 ล้านคนได้มีส่วนร่วม แต่การจัดระดมความเห็นครั้งนี้ จะพยายามให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขอย้ำว่าไม่มีอะไรติดยึดว่าเป็นฝ่ายใดหรือสีใด แต่เป็นสีของประชาชน ไม่ได้ทำงานในวันนี้เพื่อการเมือง แต่ทำเพื่อสร้างบ้านเมืองในทุกด้าน

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ