posttoday

6ปีเมืองไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการ

07 สิงหาคม 2553

6ปีข้างหน้าเมืองไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการในปี 2559 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปักธงแล้ว

6ปีข้างหน้าเมืองไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการในปี 2559 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปักธงแล้ว

 

6ปีเมืองไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการ

อภิสิทธิ์ กล่าวในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมประจำปี 2553 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า เมื่อถึงปี 2559 ระบบรัฐสวัสดิการที่จะเกิดขึ้นต้องมีความชัดเจนว่าคนไทยจะได้รับสวัสดิการอะไรบ้างตั้งแต่เกิดจนตาย

“สิ่งที่ผมอยากจะย้ำคือว่า ภายในแผนฯ ฉบับที่ 11 ซึ่งจะไปสิ้นสุดลงปี 2559 เราต้องตั้งเป้าว่าระบบรัฐสวัสดิการของไทยมีความชัดเจน คนไทยอยู่ที่ไหนเกิดที่ไหน จะมีหลักประกันขั้นพื้นฐานว่าการใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดไปจนตายจะได้รับการดูแลอย่างไร

“ระบบรัฐสวัสดิการที่ว่านี้ไม่ใช่ระบบที่ภาครัฐหยิบยื่นให้แต่ฝ่ายเดียว แต่จะต้องเป็นระบบที่มีความยั่งยืนในแง่ของการเงินการคลัง เช่น การมีหลักประกันภัยในเรื่องของเงินออมในยามชรา จะเกิดขึ้นจากการให้มีการสมทบและมีส่วนร่วมของประชาชนเองภายในปี 2559 สิ่งที่คนไทยควรจะได้รับคือหลักประกันตรงนี้ ควบคู่ไปกับความมั่นใจจากภาครัฐเองว่าระบบรัฐสวัสดิการนั้นจะไม่กระทบกับฐานะทางด้านการเงินการคลัง จนถึงขั้นที่มีปัญหาเหมือนกับหลายๆ ประเทศ” นายกฯ ระบุ

นายกฯ สเกตช์ภาพโครงสร้างพื้นฐานที่จะปูไปสู่เป้าดังกล่าวว่า

“จำเป็นจะต้องมีการวางแผนอย่างชัดเจนต่อเนื่องในเชิงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ เรื่องของน้ำ ทั้งในเรื่องของการอุปโภคบริโภค โดยมีเป้าและกำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจนว่าประชาชนคนไทยทั่วประเทศจะได้รับการบริการพื้นฐานอย่างไร

“น้ำเพื่อการเกษตรต้องถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะคือจุดที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน เป็นความมั่นคงทางด้านอาหารของโลกได้อย่างแท้จริง

“ระบบขนส่งคมนาคมก็เป็นอีกด้านหนึ่ง ใน 56 ปีข้างหน้า ต้องมีรูปธรรมให้เห็นแบบก้าวกระโดดอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับเรื่องของระบบขนส่งมวลชนใน กทม. และปริมณฑล แต่จากนี้ไปต้องผลักดันการขนส่งระบบรางทั่วประเทศ รวมถึงการใช้ระบบรางและถนนเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงภูมิภาค และเชื่อมโลก”

สิ่งที่นายกฯ ไม่ได้พูดถึงตรงๆ คือ จะใช้รัฐสวัสดิการแก้โรคประชานิยม ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน แต่บางบรรทัดที่นายกฯ กล่าวก็บอกถึงนัยเช่นนั้น

“ถ้าเราสามารถที่จะสร้างหลักประกันตรงนี้ได้ ภายในปี 2559 เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการลดปัญหาความไม่เป็นธรรม ลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่และในหลายๆ ภาคส่วนต่อไป”

ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ฉายภาพการดำเนินนโยบายการคลังในอนาคต ว่า มีทิศทางหลักคือ สร้างสมดุลด้านรายรับรายจ่ายภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจโดยเร็ว และต้องลดหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดความเสี่ยง

อนาคตนโยบายการคลังจะเป็นไปดังนี้ ... เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ต้องมีมาตรการการเงินการคลังเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยมีสินเชื่อชุมชนเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจให้กับชุมชน ให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ หนี้ครู หนี้สินภาคประชาชน

“อาจต้องจัดตั้งธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน เพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ

“ต้องมีมาตรการภาษีทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และอาจรวมถึงภาษีมรดก มีมาตรการสนับสนุนคุณภาพการศึกษาและการเข้าถึงโอกาสการแสวงหาความรู้

“เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ต้องมีการเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่เป็นมลพิษ มีการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในโครงสร้างพื้นฐานผ่านการลงทุนแบบ PPP และเพิ่มศักยภาพในการบริหารสินทรัพย์ของรัฐเพื่อเป็นแหล่งรายได้”

นี่คือเป้าหมายของอภิสิทธิ์ แต่ถึงปี 2559 อะไรจะเกิดขึ้นยังไม่รู้