posttoday

เหลืองแดงเปิดละครเวที เชื่อมสัมพันธ์แก้ความขัดแย้ง

29 เมษายน 2559

นศ.หลักสูตร 4ส6 พระปกเกล้า เสนอทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย เชื่อสันติสุขเกิดได้ภายใต้ความเห็นต่าง นำเสนอผ่านละครเวที “The Last Station สถานีปลายทาง”

นศ.หลักสูตร 4ส6 พระปกเกล้า เสนอทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย เชื่อสันติสุขเกิดได้ภายใต้ความเห็นต่าง นำเสนอผ่านละครเวที “The Last Station สถานีปลายทาง”

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ห้องออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ  นักศึกษาหลักสูตรการสร้างเสริมสังคมสันติสุข  (4ส6) สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดเวทีการประชุมวิชาการนำเสนอผลงานรุ่น  ด้วยแนวคิด “สันติสุขเกิดได้ภายใต้ความแตกต่าง”  โดยแบ่งการนำเสนอเป็นงานศึกษาประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองและสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้  ปิดท้ายด้วยการเสนอผ่านละครเวที เรื่อง “The Last Station สถานีปลายทาง”
          

โดยเป็นผลจากการศึกษาซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทั้งประเด็นทางการเมืองและสถานการณ์ภาคใต้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน นักศึกษา 4ส6 มีข้อเสนอแนวทางเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความปรองดองบนความเห็นต่างทางการเมืองดังนี้

1) ต้องขจัดเงื่อนไขหรือสภาวะที่ไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคในการเปิดพื้นที่พูดคุย ยกเลิกกลไกทางกฎหมายที่มีลักษณะคุกคามประชาชน เช่นการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร  อีกทั้งต้องระมัดระวังการใช้อำนาจออกกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิพื้นฐานของบุคคล เช่นการให้อำนาจทหารเข้าตรวจค้น จับกุมและควบคุมบุคคลโดยไม่ต้องขอหมายศาล เพราะเสี่ยงต่อการใช้ดุลพินิจที่ไม่รัดกุมและขาดการตรวจสอบ

2) เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยและรับฟังกันอย่างจริงใจ  และสื่อสารด้วยท่าทีที่เป็นมิตรแสดงความจริงใจที่ต้องการแก้ปัญหาและไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นการร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการลงประชามติ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของประเทศ

3) เปิดโอกาสให้มีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิสาธารณะ  เช่นการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมาย
ผังเมืองและการลดขั้นตอนประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการของรัฐ
          
สำหรับข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ นักศึกษา 4ส6 เห็นว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เน้นใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ขณะเดียวกันต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของอัตลักษณ์ระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมในท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษามลายุูเป็นภาษาที่สามสำหรับพื้นที่ชายแดนใต้   ชำระประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและกำหนดมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเช่นหากต้องควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ญาติหรือทนายทราบอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นต้น   

 

เหลืองแดงเปิดละครเวที เชื่อมสัมพันธ์แก้ความขัดแย้ง

 


สมบัติ บุญงามอนงค์ หนึ่งในนักศึกษา 4ส6  ระบุว่า การรับฟังอีกฝ่ายและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ได้มีพื้นที่ของตัวเองจะเป็นทางออกหนึ่งของการจัดการความขัดแย้ง
    
“ ผมเรียนรู้ว่า ปัญหาในสังคมไทยเกิดจากความล้มเหลวในการทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานของอีกฝ่ายหนึ่งการฟังและการแบ่งปันพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีที่ยืนเป็นคำตอบที่มีเหตุผลกว่าการชนะกัน   สิ่งที่อยากบอกคือ สังคมสามารถเลือกหรือกำหนดทางออกของปัญหาได้ เพราะปัญหาเป็นผลผลิตของสังคม”สมบัติ กล่าว

        
วีระ สมความคิด นักศึกษา 4ส6 อีกคนหนึ่งกล่าวว่า การเรียนรู้ในหลักสูตรทำให้ค้นพบว่าการจะทำให้คนที่มีความคิดเห็นต่างกันมาเข้าใจกันหรือพูดคุยเพื่อลดความขัดแย้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข  ต่างฝ่ายต้องเปิดใจกันให้ได้ก่อน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของทั้งสองฝ่ายต้องใกล้เคียงกันโดยเฉพาะตัวแทนหรือคู่ขัดแย้ง
      
 “ไม่ได้แปลว่าปัญหาจะยุติลงทันทีแต่ก็สามารถลดดีกรีความร้อนแรงลงได้บ้างแต่ถ้าฝ่ายหนึ่งอยากคุยอีกฝ่ายตั้งป้อมไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง แบบนี้การเจรจาก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าวุฒิภาวะไม่ใกล้เคียงกันโอกาสประสบความสำเร็จในการเจรจาแก้ไขความขัดแย้งคงเป็นไปได้ยากกว่า    อีกเรื่องหนึ่งคือ ทั้งสองฝายต้องมีความเป็นตัวของตัวเองและมีจุดยืนมั่นคงจะต้องหนักแน่นเพียงพอ  หากมั่นใจว่าทำไปเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง  มีเป้าหมายเพื่อสันติสุข ก็ต้องมุ่งมั่นสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ไม่หวั่นไหวหรือพะวงต่อเสียงของ
มวลชนทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน” วีระ กล่าว

 
ด้านพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ  ผู้อำนวยการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงเป้าหมายหลักของการเรียนรู้ในหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขว่า ต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายสามารถมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ระยะหนึ่ง รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ทำให้เห็นว่า แม้เราเห็นต่างก็สามารถจะอยู่ร่วมกันได้

“เราเปิดมาแล้ว 6 รุ่น ซึ่งความสนใจการศึกษาก็แตกต่างกันไป มีทั้งประเด็นภาคใต้ ความขัดแย้งของพหุวัฒนธรรม ความขัดแย้งทางการเมืองฯลฯ รุ่น 6 นี้ภาพคมชัดขึ้นข้อค้นพบสำคัญคือแม้จะมีความเห็นต่างกันทางการเมืองในสังคมข้างนอกแต่เมื่อมาเรียนรู้และอยู่ร่วมกันในหลักสูตรก็ได้เห็นความเอื้ออาทร มีน้ำใจต่อกันและรับฟังกันได้ ทลายความเชื่อเดิมว่า ถ้าอยู่คนละสี คนละฝ่ายแล้วจะทำอะไรร่วมกันไมได้เลย รุ่นนี้ทำให้เห็นแล้วว่า เราอยู่ด้วยกันได้”พล.อ.เอกชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับละครเวที “ The Last Station สถานีปลายทาง”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอรายงานผลการศึกษาครั้งนี้ จำลองภาพของสังคมไทยบนรถไฟขบวนหนึ่ง  ที่เคยมีปัญหาอุบัติเหตุการทะเลาะเบาะแว้งบ่อยครั้ง แต่การเดินทางครั้งล่าสุดนี้ มีเงื่อนไขใหม่ว่าได้ปรับปรุงระบบประสิทธิภาพต่างๆให้ดีขึ้นแล้ว จะทำให้การเดินทางเปลี่ยนแปลงดีขึ้นไปจากสถานการณ์เดิมได้อย่างไรและหลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้งได้อย่างไร  นักแสดงและทีมงานทั้งหมดคือนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตร 4ส6 อาทิ วิภูแถลง พัฒนภูมิไท วีระ สมความคิด ศิริชัย ไม้งาม พะเยาว์ อัคฮาด สมบัติ บุญงามอนงค์ และแทนคุณ จิตต์อิสระ จะเปิดแสดงจำนวน 3 รอบ ระหว่างวันที่ 29-30 เมษายน 2559 นี้ ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ฟรี