posttoday

คลอดพรบ.เบี้ยยังชีพรายเดือน

05 สิงหาคม 2553

ผู้สูงอายุเฮ! พรบ.เบี้ยยังชีพรายเดือนคลอดแล้ว    รับเบี้ยยังชีพทั่วถึงไม่จำกัดเรื่องรายได้

ผู้สูงอายุเฮ! พรบ.เบี้ยยังชีพรายเดือนคลอดแล้ว    รับเบี้ยยังชีพทั่วถึงไม่จำกัดเรื่องรายได้

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ 303 งด 5 ไม่ลงคะแนนเสียง 10เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ  ฉบับของสภาผู้แทนราษฎรเสนอ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันของทั้งสองสภาที่มีการแก้ไขจากเดิมกำหนดให้ ”มีการจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม”   แก้ไขเป็น “ให้การจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนแก่ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การอย่างชีพเท่านั้น”    ทำให้สมาชิกสภาฯทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มข้อความดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นและเห็นว่าเมื่อจะให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุก็ควรจะให้อย่างทั่วถึง ไม่กีดกันรายได้  ทั้งนี้ในที่สุดที่ประชุมสภาได้มีมติไม่เห็นด้วยกับร่างที่กรรมาธิการร่วมกันแก้ไขด้วยคะแนนเสียง 293 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 11 

อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเป็นพรบ.ว่าด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า 20 คนเสนอเป็นญัตติเพื่อยืนยันร่างพ.ร.บ.เดิมฉบับของสภาผู้แทนราษฎรที่มีหลักการให้จ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม   โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้เป็นผู้เสนอญัตติดังกล่าวยังกลางที่ประชุมอีกครั้งตามมาตรา 148 วรรคสอง  จากนั้นที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างพร.บ.ผู้สูงอายุ ที่สภาผู้แทนราษฎรทันที ด้วยคะแนนเสียง  303 งด 5 ไม่ลงคะแนนเสียง 10 หลังจากนั้นจะมีเข้าสู่ขั้นตอนการบังใช้กฎหมายต่อไป 

นายสรรเสริญ  สมะลาภา     ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์  กรรมาธิการ กล่าวว่า    พรบ.ดังกล่าวจะทำให้ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขพื้นฐานโดยการเสนอกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าทุกรัฐบาลต้องมีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ  ทั้งนี้ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคน  มีผู้ขอรับสิทธิ์ประมาณ 6 ล้านคน อีก1 ล้านคนขอสละสิทธิ์  โดยเบื้องต้นในปี 2553-2554 จะใช้งบประมาณประมาณปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท   หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นตัวเลขจะกระโดดไปที่ 4 หมื่นล้านบาท เพราะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  จากนั้นจะเพิ่มปีละ 1,000-2,000 ล้านบาท เป็นปีละ 4หมื่นกว่าล้านบาท  ซึ่งถือว่าไม่กระทบงบประมาณโดยภาพรวมที่เสนอไว้ประมาณปีละ 2 ล้านล้านบาท