posttoday

"มีชัย"แถลงร่างรธน.มุ่งประโยชน์ของประชาชน-แก้ความเหลื่อมล้ำ

29 มีนาคม 2559

"มีชัย"แถลงร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ มุ่งประโยชน์ของประชาชน แก้ความเหลื่อมล้ำ คุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพ

"มีชัย"แถลงร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ มุ่งประโยชน์ของประชาชน แก้ความเหลื่อมล้ำ คุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติว่า ขณะนี้ กรธ.ได้ทำหน้าที่เบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย โดยได้ทำหนังสือแจ้งคณะรัฐมนตรี พร้อมส่งร่างรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ไปให้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้นับจากมีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค.58  กรธ.มีเวลาทำงาน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 เม.ย.59 สำหรับการทำงานในช่วงที่ผ่านมามีการประชุมรวม 115 ครั้ง โดยสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญร่างแรกที่มี 270 มาตราเสร็จเมื่อวันที่ 29 ม.ค.59

หลังจากนั้น กรธ.ได้เดินสายชี้แจงตามที่ต่างๆ ราว 30 ครั้ง และได้รับจดหมายเสนอความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนกลับมารวม 258 ฉบับ ซึ่งได้นำมาพิจารณาแก้ไขในรัฐธรรมนูญร่างแรกไปจำนวน 88 มาตรา นำบทบัญญัติที่เขียนไว้เดิมไปรวมอีก 6 มาตรา ทำให้รัฐธรรมนูญร่างแรกที่แก้ไขแล้วเหลือ 264 มาตรา แล้วก็เพิ่มเติมอีก 15 มาตรา รวมแล้วรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายมี 279 มาตรา

ส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมมากสุด คือ ส่วนที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ หน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐ กับส่วนที่ว่าด้วยการปฏิรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขตามข้อเสนอแนะของประชาชนและองค์กรภาคเอกชน

"สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะไม่ระบุว่าประชาชนเป็นใหญ่ แต่ทุกบทบัญญัติมุ่งให้เกิดประโยชน์ เกิดความทัดเทียม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ประชาชนได้รับการคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพสำคัญๆ เรายึดหลักของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประโยชน์ของประชาชนจึงเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นเราก็มุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักสำคัญในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนี้" นายมีชัย กล่าว

นายมีชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของสิทธิและเสรีภาพนั้น กรธ.จัดทำร่างแรกพยายามเขียนให้ครอบคลุมกะทัดรัด โดยรับรองสิทธิและเสรีภาพทั้งที่มีอยู่ ที่เคยมีอยู่ และที่มีเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่หลังจากไปพบปะประชาชนแล้วรู้สึกว่าประชาชนยังไม่อุ่นใจ นักวิชาการยังไม่เข้าใจ กรธ.จึงได้มีการปรับร่างเขียนไว้ให้ชัดเจน

ขณะที่ความเสมอภาคระหว่างชายกับหญิง กำหนดให้มีการดูแลคุ้มครองป้องกันตามสมควรแก่ภาวะของเพศ เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างห้องน้ำซึ่งเพศหญิงมีความจำเป็นมากกว่า, การคุ้มครองสิทธิของแม่ในช่วงก่อนคลอดและหลังคลอดบุตร

ศาสนา ตามที่มีเสียงเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินั้น กรธ.เห็นว่าอาจจะเกิดปัญหาและได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า โดยบัญญัติให้มีการส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่หลักธรรมของพุทธศาสนาเถรวาท กำหนดให้รัฐมีกลไกป้องกันและดูแลการบ่อนทำลายพุทธศาสนาในทุกรูปแบบ

การเมือง กรธ.มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมและใช้สิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้สนใจว่าพรรคการเมืองใดจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เช่น วิธีเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว การประกาศรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง

การป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดไม่ให้ผู้ที่เคยทุจริตการเลือกตั้ง หรือทุจริตต่อหน้าที่เข้ามาสู่วงการเมือง

องค์กรอิสระ กำหนดให้มีที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสูงขึ้น และมีกลไกตรวจสอบ

การปฏิรูป กำหนดไว้ 7 ด้าน คือ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ซึ่งกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาชัดเจน

"กฎหมายที่จำเป็น อย่างเช่นเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันทุจริต รัฐธรรมนูญหลายฉบับกำหนดเอาไว้ให้ทำแล้วเสร็จในเวลาเท่านั้นเท่านี้แต่ไม่เคยได้ทำ ในคราวนี้กำหนดระยะเวลาตายตัวว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันที่จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยให้คณะรัฐมนตรีกำหนดระยะเวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำให้แล้วเสร็จ พร้อมกำหนดไว้ด้วยว่าหน่วยงานใดทำไม่แล้วเสร็จให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่ง ด้วยวิธีนี้ก็มั่นใจได้ว่ากฎหมายที่รอคอยกันมานานจะสามารถเกิดขึ้นได้ในยุครัฐบาลนี้" นายมีชัย กล่าว

นายมีชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของบทเฉพาะกาล กำหนดระยะเวลาไว้ 5 ปีแรกให้มีการสรรหา ส.ว.จำนวน 250 คน โดย 50 คนมาจาก คสช.คัดผู้ที่ได้รับเลือกจากทั่วประเทศ 200 คน ส่วน ส.ว.อีก 200 คน คสช.คัดเลือกจากการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา 194 คน และ ส.ว.โดยตำแหน่ง (ผู้นำเหล่าทัพ) อีก 6 คน

หลังจากการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์แล้ว กรธ.จะใช้เวลา 15 วันเพื่อจัดทำคำชี้แจงสรุปสาระสำคัญเนื้อหารัฐธรรมนูญ เพื่อมอบให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำไปเผยแพร่กับประชาชนอย่างทั่วถึงตามที่รัฐธรรมนูญฯ 2557 กำหนด จากนั้น กรธ. ก็จะทยอยออกไปชี้แจงกับประชาชนถึงรายละเอียด จุดสำคัญของรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติ  ซึ่งเข้าใจว่า กกต. ได้กำหนดให้วันที่ 7 ส.ค. เป็นวันลงประชามติ

"หลังร่างตัวจริงออกมาแล้ว ขออย่าได้ฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ขอให้เปิดดูเสียก่อน"นายมีชัยกล่าว