posttoday

เปิดทาง คสช. กินรวบ สว. สั่งรัฐบาลรายงานปฏิรูปทุก 3 เดือน

25 มีนาคม 2559

การประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล หัวหิน บีช รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล หัวหิน บีช รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ประชุม กรธ.ได้มีความเห็นร่วมกันในการปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของบทเฉพาะกาลในระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศ 5 ปีแรก เกี่ยวกับที่มาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาสำคัญดังนี้

1.วุฒิสภา กรธ.กำหนดให้มี สว.จำนวน 250 คน แบ่งเป็น (1) สว.สรรหาจำนวน 200 คน โดยมาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 194 คน ซึ่งเลือกมาจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการสรรหาเลือกมา จำนวน 400 คน พร้อมกับกำหนดให้มี สว.โดยตำแหน่งจำนวน 6 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีบัญชีรายชื่อ สว.สำรอง จำนวน 50 คนด้วย

(2) สว.จำนวน 50 คน กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปดำเนินการจัดให้มีการเลือกกันเองของผู้สมัครในระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ได้ผู้มีความเหมาะสม จำนวน 200 คน ก่อนเสนอให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ 50 คน เพื่อเป็น สว. พร้อมกับมีบัญชีรายชื่อ สว.สำรองอีก 50 คน

2.ที่มานายกรัฐมนตรี จากเดิมที่กำหนดให้รัฐสภาต้องมีมติ 2 ใน 3 หรือ 500 คะแนนจาก สส.และ สว.ทั้งหมด 750 คน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง กรธ.ได้แก้ไขโดยกำหนดให้รัฐสภาต้องมีมติ 3 ใน 5 หรือ 450 คะแนนจาก สส.และ สว.ทั้งหมด 750 คน

อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงว่า คุณสมบัติของ สว.ในกลุ่ม 200 คน จะใช้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง สว.ตามบทหลักในรัฐธรรมนูญ แต่จะให้บุคคลที่เคยเป็นรัฐมนตรีสามารถมาเป็น สว.ได้ด้วย และในกรณีของผู้ที่เป็น สว.โดยตำแหน่งนั้นหากเกิดกรณีที่ผู้นำเหล่าทัพคนไหนพ้นจากตำแหน่งจะทำให้คนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนเข้ามาเป็น สว.

ขณะเดียวกัน กรธ.กำหนดให้ต้องดำเนินการจัดทำกฎหมายปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ และในช่วง 5 ปีแรกจะต้องเริ่มการปฏิรูปประเทศ โดย สว.มีหน้าที่ติดตามและผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศในช่วง 5 ปีแรก ทั้งนี้กำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรายงานเรื่องการปฏิรูปประเทศต่อวุฒิสภาทุก 3 เดือน โดยวุฒิสภาทำหน้าที่รับทราบเท่านั้น ไม่สามารถลงมติได้

นอกจากนี้ ยังได้มีแนวทางให้รัฐสภาร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้วย โดยก่อนจะกำหนดว่ากฎหมายใดเข้าข่ายเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศหรือไม่นั้นจะมีคณะกรรมการที่มาจากผู้บริหารระดับสูงของรัฐสภาและตัวแทนของคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่พิจารณา

“หากสภา มีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายโดยเฉพาะการพยายามเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายเกี่ยวกับการเพิ่มเติมโทษและองค์ประกอบความผิดในเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หากมีการยับยั้งในระดับวุฒิสภาหรือสภาฯ ให้กฎหมายเหล่านี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของทั้งสองสภา” อุดม กล่าว

ส่วนหลักการเกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรี โฆษก กรธ.อธิบายว่า สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขมติของรัฐสภา ซึ่งมาจากการที่เราเห็นถึงช่องว่างที่เกิดขึ้นและทางตัน เพราะการที่พรรคแต่ละพรรคจะเสนอคนเข้ามาเป็นนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรก พบว่าพรรคการเมืองใหญ่ยังไม่ค่อยมีความเต็มใจนัก ซึ่ง กรธ.ก็ไม่ได้บังคับให้พรรคทุกพรรคต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แบบนี้ใน 5 ปีแรกเราเห็นว่าอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะมีปัญหาอะไรบ้าง

เมื่อถามว่า การกำหนดให้ คสช.เป็นคนเลือก สว.ในขั้นตอนสุดท้ายทั้งหมด แบบนี้จะถือเป็นการกินรวบหรือไม่ อุดม ตอบว่า “ต้องอธิบายอย่างนี้ครับว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปี การเปลี่ยนผ่านของการเมืองไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปประเทศหรือการดูแลเรื่องความมั่นคงยังคงมีความจำเป็นที่ต้องทำให้กระบวนการทั้งหลายมีความเป็นเอกภาพ ผมคิดว่าการที่ คสช.เขาเลือกใครเป็น สว. คงคิดแล้วว่าควรเป็นคนที่สามารถทำงานร่วมกันได้ หรือเป็นปลาน้ำเดียวกัน หาก สว.มีทั้งคนที่คิดเหมือนและคิดต่างอาจจะเป็นปัญหาในการทำงานก็ได้ เกือบจะพูดได้ว่า สว.คงเป็นส่วนที่สร้างดุลยภาพในทางการเมืองในช่วง 5 ปี”

“อย่างน้อยการเมืองที่จะเดินต่อไปในช่วง 5 ปี ไม่ใช่การเมืองประเภทที่อยากให้เกิดความแตกแยก แต่อย่างน้อยควรก้าวไปสู่ฐานของการปฏิรูปประเทศที่รัฐธรรมนูญต้องการให้เกิดขึ้น และไม่ต้องการให้การเมืองกลับไปสู่ระบบล้างแค้นแบบเดิมอีก แต่อยากเห็นการเริ่มต้นใหม่ในการทำงานทางการเมือง ส่วนคนที่จะไปวิเคราะห์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจนั้น กรธ.เราไม่เคยคิด เพราะรัฐบาลและ คสช.ยืนยันมาตลอดและมีจดหมายแจ้งเรามาว่าไม่ต้องกลัวและกังวลว่า คสช.จะสืบทอดอำนาจและเป็นนายกฯ ต่อ” อุดม กล่าว

อุดม กล่าวย้ำว่า การให้ คสช.ดำเนินการเลือก สว.ทั้งหมด เพื่อต้องการให้ สว.เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่เรียกว่าเป็นปลาน้ำเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเชิงจิตวิทยาการเมืองที่คิดว่า สว.ที่มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัครมีความใหญ่กว่า สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เพราะหากไม่ทำแบบนั้นอาจจะเกิดการแบ่งกลุ่มของ สว.ระหว่างกลุ่ม สว. 200 คน และกลุ่ม สว. 50 คน

“จะได้ไม่เกิดปัญหาปลาสองน้ำ เพราะจะเกิดการเขม่นกันว่าคุณมาจากลูกใคร ดังนั้นจึงเห็นว่าควรให้ทั้ง 250 คน มาจากพ่อแม่เดียวกัน” อุดม ระบุ

ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า การสรรหา สว.จะมีคณะกรรมการสรรหา จำนวน 9 คน ซึ่งมาจากบุคคลที่มีความรู้ประสบการณ์ด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถเลือกบุคคลมาเป็น สว.ได้อย่างเหมาะสม ซึ่ง กรธ.จะกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาให้ชัดลงไปว่าต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง การกำหนดที่มาของคณะกรรมการสรรหาในรายละเอียดทาง คสช.จะเป็นคนกำหนดเอง

เมื่อถามว่า แล้วผู้นำเหล่าทัพ 6 คน ที่เข้ามาเป็น สว.จะช่วยงานด้านการปฏิรูปประเทศได้อย่างไร ประธาน กรธ.อธิบายว่า “มันก็คงช่วยในแง่ของการบอกเล่าข้อเท็จจริงและความเป็นไปของสถานการณ์ให้ สว.ได้รับรู้ในเวลาที่จะต้องทำงานหรือต้องตัดสินใจอะไร มันก็มีแง่ดีของมันครับ เมื่อไปทำงานด้วยกัน ใครสงสัยอะไรก็ไต่ถามกันได้ มิเช่นนั้นอยู่ๆ สว.จะยกทัพไปถามเขาถึงที่ทำงานก็คงเป็นเรื่องเป็นราว”