posttoday

"เพื่อไทย"จี้รัฐบาลปมตั้งพระสังฆราช

09 มีนาคม 2559

ชวลิต วิชยสุทธิ์ กระทุ้งรัฐบาล กรณีแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

ชวลิต วิชยสุทธิ์  กระทุ้งรัฐบาล กรณีแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช 

วันที่ 9 มี.ค.นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอให้ความเห็นเป็นการส่วนตัวในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง กรณี ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า มหาเถรสมาคมเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชผิดขั้นตอน  นั้น ความเข้าใจเดิม ตนเข้าใจว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล จึงเป็นความรู้ใหม่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถทำหน้าที่วินิจฉัยกฎหมายและตีความกฎหมายได้ด้วย ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรับฟังหรือไม่

นายชวลิต ฯ กล่าวว่า ตนเคยให้ความเห็นประเด็นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเปรียบเทียบเหมือนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีว่า ผู้มีหน้าที่นำความขึ้นกราบบังคมทูลไม่อาจประวิงเวลาได้ ซึ่งตนจะไม่กล่าวซ้ำในประเด็นดังกล่าวอีก  แต่จะขอยกตัวอย่าง เพื่อเป็นอนุสติแก่ทุกฝ่าย โดยตนทราบมาว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 59เพื่อพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เป็นการประชุมของพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่สองนิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติโดยมี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายเป็นประธานที่ประชุม เมื่อถึงวาระการพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ปรากฎว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้ออกจากห้องประชุม เนื่องจากมีส่วนได้เสีย ผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทน คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธ พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ และผู้ที่เสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายเป็นสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ เช่นเดียวกับผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม

ผลการลงมติที่ประชุมเลือกสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 17 : 0 จะเห็นได้ว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคมประกอบด้วยพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติ ต่างเข้าใจประเพณีปฏิบัติ เข้าใจและรักษากฎหมายคณะสงฆ์ ทั้งยังปรองดอง สามัคคี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลกันเป็นอย่างดี จนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชในฝ่ายคณะสงฆ์ซึ่งอาศัยองค์กรมหาเถรสมาคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นวัตรปฏิบัติที่งดงามยิ่ง

ดังนั้น เราซึ่งเป็นฆราวาสเป็นชาวพุทธ ควรดูเป็นแบบอย่างโดยเฉพาะรัฐบาลควรเป็นตัวอย่างในการดำเนินการตามกฎหมายคณะสงฆ์ และสร้างความปรองดอง ความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวพุทธ การจะมีผู้ที่มีความเห็นแตกต่างบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ระหว่างองค์กรตามกฎหมายคณะสงฆ์ คือ มหาเถสมาคม(ศาสนจักร) และรัฐบาล(อาณาจักร) ควรร่วมมือ เกื้อกูลกัน ให้เกิดความสงบร่มเย็น ดังเช่นที่เป็นมาแต่อดีตกาล

นายชวลิต  กล่าวในที่สุดว่าหากรัฐบาลไม่ฟัง ไม่เชื่อมั่นในมติมหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วยพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองนิกายดังกล่าวข้างต้น แต่ไปฟัง นายไพบูลย์ นิติตะวัน และพวก ซึ่งผ่านเวทีทางโลกมาหลายเวทีอย่างโชกโชน ตนก็คาดการณ์ไม่ถูกว่า บ้านเมืองข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้ปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนี้ยุติลงด้วยดี โดยยึดหลักกฎหมายและประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานเป็นสำคัญ