posttoday

สปท.เผยรอบ1เดือนส่งข้อเสนอปฏิรูปให้ครม.แล้ว 9 เรื่อง

25 กุมภาพันธ์ 2559

สปท.แจงในรอบ 1 เดือนส่งข้อเสนอปฏิรูปให้ ครม.แล้ว 9 เรื่อง ระบุการทำงานยังเป็นไปตามโรดแมประยะสอง

สปท.แจงในรอบ 1 เดือนส่งข้อเสนอปฏิรูปให้ ครม.แล้ว 9 เรื่อง ระบุการทำงานยังเป็นไปตามโรดแมประยะสอง

ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 และ น.ส.วลัยรัตนน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.คนที่ 2 พร้อมด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสปท. แถลงพบปะสื่อมวลชนเพื่อพูดคุยถึงความคืบหน้าในการทำงานของ สปท.ประจำเดือนก.พ. โดย ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวว่า ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา สปท.ได้ส่งข้อเสนอการปฏิรูปไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วจำนวน 9 เรื่อง ทั้งนี้ ครม.ได้มีมติให้ความเห็นชอบแล้ว อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. .... แผนการปฏิรูปสัมมาชีพชุนชน และการสร้างผู้ประกอบการ และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นต้น

นอกจากนี้ ครม.ยังได้พิจารณาข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 4 เรื่อง อาทิ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนร่วม พ.ศ. ....

ขณะที่ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมา การทำงานของสปท.เป็นที่น่าพอใจ เพราะยังเป็นไปตามโรดแมประยะที่ 2 อยู่ โดยจะทำงานร่วมกับแม่น้ำ 5 สายเพื่อทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ นอกจากนี้ ทางสปท.ยังได้ลงนามความร่วมมือกับ 11 เครือข่ายต่างๆ อาทิ หอการค้า สภาพัฒนาการเมือง สภาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เป็นต้น และ จะเดินหน้าลงนามความร่วมกับองค์กรต่างๆอีก 30 องค์กรภายในมี.ค.นี้

ด้าน น.ส.วลัยรัตน์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญหลังจากที่สปท.ได้ส่งข้อเสนอการปฏิรูปไปยังรัฐบาลแล้ว ต้องมีระบบติดตามผลงานว่า ได้ดำเนินการต่อไปอย่างไร ขับเคลื่อนได้จริงมากน้อยแค่ไหน โดย สปท.ได้ทยอยเสนอเรื่องไปยังรัฐบาลมากพอสมควรแล้ว ซึ่งขณะนี้ส่วนตัวได้วางระบบการติดตามผลไว้เรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า สปท.ควรมีบทบาทในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหรือไม่ นายทินพันธุ์ กล่าวว่า "ผมไม่ขอตอบ ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี"

ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจะสานต่ออย่างไรให้งานปฏิรูปสำเร็จ ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวว่า หน้าที่ของสปท.ต้องทำการปฏิรูปให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งในปี 2560 แต่ถ้าหากมีเรื่องใดที่คั่งค้างหรือยังทำไม่เสร็จ ก็อาจจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คล้ายกับสปท.แต่ปรับโครงสร้างให้เล็กลง ทั้งนี้ ก็สุดแล้วแต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าจะจัดไว้ในส่วนหลักหรือบทเฉพาะกาล เพื่อสานทำงานการปฏิรูปที่เหลืออยู่ในสำเร็จ

ทั้งนี้ สปท.เป็นเพียงสภาที่ปรึกษาทำหน้าที่เป็นฝ่ายวิชาการ เพื่อทำข้อเสนอแนะในช่วงระยะเวลา 1 ปีครึ่งถึง 20 ปีข้างหน้า โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้กับรัฐบาล เพราะเราเป็นเพียงทำแผนออกแบบประเทศไทยไว้ให้ 20 ปีแม้จะไม่อยู่ แต่ยังมีแผนให้รัฐบาลเดินตาม ส่วนรัฐบาลนี้หรือผู้อำนาจในอนาคตจะเห็นด้วยกับแผนต่างๆหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่ ตนไม่ติดใจ