posttoday

"เทียนฉาย"หวั่นองค์กรอิสระอำนาจล้นคุมไม่ได้

04 กุมภาพันธ์ 2559

อดีตประธาน สปช. ห่วงร่าง รธน.ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกรงควบคุมไม่ได้

อดีตประธาน สปช. ห่วงร่าง รธน.ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกรงควบคุมไม่ได้
  
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า มีความกังวลถึงความอิสระขององค์กรอิสระ เพราะร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดบัญญัติให้บางองค์กรมีความเป็นอิสระสุดๆ ควบคุมไม่ได้ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับศาลปกครองและศาลยุติธรรม ซึ่งทำให้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ชัดเจน จึงควรกำหนดเอาไว้เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ

นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า วันนี้รัฐธรรมนูญไม่ต้องมีมากมาตรา เขียนไว้ 5 มาตราที่สำคัญก็พอ เพราะกฎหมายอื่นๆ คุ้มครองประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญคุ้มครองอะไรไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคงไม่โดนฉีกแล้ว ฉีกอีก
  
ด้าน นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดระบบเลือกตั้ง สส. โดยใช้บัตร ลงคะแนนเสียงใบเดียว จะทำให้พรรค ที่มีนายทุนเป็นเจ้าของเข้มแข็งมากขึ้น

ทั้งนี้ พรรคที่เป็นตัวแทนของประชาชนอ่อนแอ ส่วนระบบรัฐสภายังมีปัญหา เรื่องการตรวจสอบ ถ่วงดุล จึงต้องวางกลไกการตรวจสอบที่สามารถทำงานได้ เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2540 เคยมีปัญหา เนื่องจากบัญญัติไว้ว่าการเปิดอภิปราย ไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านต้องมีเสียง 2 ใน 5 ของจำนวน สส.ทั้งหมด แต่หากมีเสียงน้อยกว่านั้นไม่สามารถเปิดอภิปรายได้ จะทำให้การตรวจสอบดังกล่าวออกไปสู่องค์กรข้างนอก เหมือนเอาเชื้อการเมืองไปติดข้างนอก จึงต้องออกแบบนวัตกรรมในระบบรัฐสภาว่าจะทำอย่างไรให้สภาสามารถตรวจสอบถ่วงดุล และให้กลไกดังกล่าวทำงานเองให้ได้ก่อน

วันเดียวกัน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชน ยื่นหนังสือถึงนาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เพื่อขอ ให้ทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีภาพรวมของการสืบทอดอำนาจ เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก ถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ
 
ทั้งนี้ ขอให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วย ส่วนเรื่องปราบโกงหรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน คสช.สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ดำเนินการได้ทันที