posttoday

ปลุกเปิดเกมรุก ตีตลาดหัวเมืองเพื่อนบ้าน

27 มกราคม 2559

ภาคการส่งออกที่เคยเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างยิ่ง

โดย...ทีมข่าวประชาคมอาเซียน โพสต์ทูเดย์

ภาคการส่งออกที่เคยเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างยิ่ง โดยล่าสุดมูลค่าการส่งออกตลอดปี 2558 ติดลบถึง 5.78% หรือสูงที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งปัจจัยหลักที่ภาครัฐอธิบายถึงความตกต่ำครั้งนี้ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ดำดิ่งมาอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อเนื่องต่อกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าของไทย

เมื่อไล่เรียงดูรายตลาดจะเห็นชัดเจนว่า การส่งออกของไทยไปตลาดหลักๆ อย่างญี่ปุ่น สหรัฐ สหภาพยุโรป มีเพียงตลาดสหรัฐเท่านั้นที่ขยายตัวได้เล็กน้อย 0.7% เมื่อเทียบกับปี 2557

ส่วนกลุ่มตลาดศักยภาพสูงที่ประกอบด้วย อาเซียน 9 ประเทศ จีน อินเดีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีตลาดที่ยังสดใสขยายตัวเป็นบวกเพียง 4 ประเทศเท่านั้น คือ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม ซึ่งเห็นได้ว่าล้วนเป็นประเทศในอาเซียนทั้งสิ้น

เมื่อมองในภาพรวมตลอดปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าไปจำหน่ายตลาดอาเซียน 9 ประเทศ รวม 55,155 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.2% จากปี 2557 โดยเฉพาะกลุ่มตลาดอาเซียนเดิม 5 ประเทศนั้น ยอดส่งออกลดลงมากถึง 15.1% เหลือ 32,877 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดที่ไทยส่งออกลดลงมากที่สุด คือ บรูไน ติดลบ 25.8% เหลือ 106 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ มาเลเซีย ที่เป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน แต่ไทยกลับส่งออกได้ลดลง 20.2% เหลือ 10,190 ล้านเหรียญสหรัฐ อินโดนีเซีย ติดลบ 17.6% เหลือ 7,834 เหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ ติดลบ 16.2% เหลือ 8,756 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี ฟิลิปปินส์ เพียงตลาดเดียวที่ไทยส่งออกสินค้าไปจำหน่ายมากขึ้น หรือขยายตัว 2.1% เป็น 5,992 เหรียญสหรัฐ

ขณะที่การส่งออกไปตลาดกลุ่มซีแอลเอ็มวีกลับเติบโต 7.7% เป็น 22,277 ล้านเหรียญสหรัฐ มีตลาดเมียนมาแห่งเดียวที่การส่งออกติดลบ 1.5% เหลือ 4,175 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตลาดอื่นๆ ขยายตัวได้ทั้งหมด ทั้งกัมพูชาเติบโต 9.6% เป็น 4,958 ล้านเหรียญสหรัฐ สปป.ลาว ขยายตัว 5.1% เป็น 4,237 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามเติบโตมากถึง 13% เป็น 8,907 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 2559 รัฐบาลได้กำหนดให้ตลาดกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) เป็นเป้าหมายสำคัญที่การส่งออกจะต้องเติบโตเกิน 10% ซึ่งถือเป็นการตั้งเป้าที่ท้าทายอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความผันผวนหลายประการเช่นนี้

ในฝั่งของเอกชนนั้น วัลลภวิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 5% นั้น คือเป้าที่ท้าทายมาก ซึ่งภาคเอกชนเองก็พยายามจะผลักดันการส่งออกให้ได้มากขึ้น เพื่อไปให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แต่ในความเป็นจริงเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี จึงทำได้ยากมาก โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยในขณะนี้ก็มียอดการส่งออกลดลง ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

“ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีน 11% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียว และการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวก็ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อตลาดอาเซียนที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 25% ให้ลดลงตามไปด้วย ส่วนตลาดสหรัฐก็ยังฟื้นตัวไม่ดี ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปก็ยังคงติดลบอยู่” วัลลภ กล่าว

อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังเป็นบวกและยังคงเป็นความหวังของการส่งออกไทยปีนี้ก็คือ ตลาดในกลุ่มซีแอลเอ็มวี เพราะในปีที่ผ่านมายังขยายตัวได้กว่า 7% ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องพยายามผลักดันตัวเองออกไปสู่ตลาดนี้ให้เพิ่มขึ้น แต่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดใหม่ จากเดิมที่เน้นค้าขายผ่านแนวตะเข็บชายแดนไปสู่การทำตลาดในหัวเมืองหลักและหัวเมืองรองที่สำคัญในแต่ละตลาด เช่น เวียงจันทน์ จำปาสัก ของ สปป.ลาว พนมเปญ เสียมราฐ กัมปงโสมของกัมพูชา เป็นต้น

อีกทั้งจะต้องทำการตลาดเชิงรุกทั้งในตลาดจีน โดยเน้นเจาะตลาดหัวเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และเฉิงตู เช่นเดียวกับอินเดียและรัสเซีย ซึ่งตลาดรัสเซียที่ผ่านมาไทยเสียส่วนแบ่งตลาดไปค่อนข้างมาก ดังนั้นจะต้องทำการตลาดเชิงรุก เพื่อดึงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมาให้ได้

ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามหาพื้นที่ในตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นให้ได้ เช่น อิหร่าน ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกำลังจะเดินทางไปในช่วงสิ้นเดือนนี้

นายวัลลภ กล่าวว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วก็น่าจะทำให้ตัวเลขส่งออกปีนี้ดีขึ้น ไม่ติดลบ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความเสี่ยงหลายตัวเช่น เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ยอดส่งออกของไทยปีนี้อย่างดีที่สุดก็คงทำได้ที่ 2%