posttoday

เพิ่มเจ้าหน้าที่ปปท. 343 อัตรารองรับงานสอบทุจริตทั่วประเทศ

25 มกราคม 2559

เลขาฯป.ป.ท.เผยรัฐบาลอนุมัติเพิ่มเจ้าหน้าที 343 อัตรารองรับงานสอบทุจริตทั่วประเทศ

เลขาฯป.ป.ท.เผยรัฐบาลอนุมัติเพิ่มเจ้าหน้าที 343 อัตรารองรับงานสอบทุจริตทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายประยงค์  ปรียาจิตต์  เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) แถลงแนวทางการทำงานของป.ป.ท. ว่า ในปี 2559 รัฐบาลอนุมัติกรอบเพิ่มกรอบอัตรากำลังให้ป.ป.ท.อีก 343 อัตรา จากเดิมที่มีเจ้าหน้าที่เพียง255คน เพื่อรองรับงานตรวจสอบทุจริตทุกพื้นที่

ทั้งนี้ในป.ป.ท.ภาคจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำอีกภาคละ20 คน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่แล้วจะทำให้การทำงานของป.ป.ท.ทำงานได้รวดเร็วขึ้น

นายประยงค์กล่าวอีกว่า ภารกิจหลักของ ป.ป.ท. มีอยู่ 2 ประการ คือ 1.ขับเคลื่อนส่วนราชการให้ป้องกันการทุจริตในหน่วยงานของตัวเอง ซึ่งมีอยู่ 8,000 กว่าหน่วยงาน และ 2.ตรวจสอบและไต่สวนคนที่กระทำผิดทุจริต ซึ่งทั้งสองประการนี้ในข้อเท็จจริงแล้ว ป.ป.ท.ยังทำได้ไม่ครบถ้วนตั้งแต่เริ่มแรกที่ก่อตั้ง ป.ป.ท.ขึ้นมา เพราะต้องใช้พลังมากที่จะขับเคลื่อนให้ส่วนราชการปฏิบัติตาม รวมทั้งอำนาจตามกฎหมายที่ไม่ชัดเจน กำลังพล และการสนับสนุนที่ไม่จริงจัง ส่งผลให้การทุจริตเกิดขึ้นแรงมาก ทั้งในเชิงพื้นที่และพฤติการณ์ ซึ่งพบว่ากลไกลการแก้ไขปัญหาขาดประสิทธิภาพ พอคดีการทุจริตเกิดขึ้น ป.ป.ท. ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทำให้โครงสร้างระบบราชการและสังคมอ่อนแอ ระบบราชการถูกแทรกแซง ระเบียบขั้นตอนต่างๆถูกกำหนดไว้เพื่อป้องกันการทุจริตกลายเป็นที่ฟอกการกระทำให้ถูกต้องเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศก็พบว่าปัญหาการทุจริตที่ต้องแก้ไขมี 3 ข้อ คือ 1.ทุจริตเกิดขึ้นอย่างแรง 2.กลไกไม่ทำงาน และ 3.โครงสร้างอ่อนแอ จึงนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยมี ป.ป.ท. เป็นเลขานุการศูนย์ เพื่อขับเคลื่อนให้ส่วนราชการต้องทำหน้าที่ จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อแก้ไขปัญหาบางประการที่ระบบปกติไม่สามารถแก้ไขได้ทันการณ์

เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวอีกว่า จากนั้น ได้มีการวางกลไกลทำงานขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นให้หัวหน้าส่วนราชการ กำหนดมาตรการแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงาน อีกทั้ง ยังได้ใช้มาตรการทางการบริหาร คือ คำสั่งย้ายหรือพักราชการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหา หรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริต สิ่งที่เห็นได้ชัดคืออันดับความโปร่งใสสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่ามาถูกทางแล้ว ทั้งนี้ หลังจากนี้จะต้องผลักดันและให้ปฏิบัติแบบนี้อย่างต่อเนื่อง