posttoday

ขู่แกนนำเกษตรกรใครปลุกม็อบถูกดำเนินคดีแน่

22 มกราคม 2559

นายกฯ ขู่แกนนำปลุกม็อบถูกดำเนินคดีแน่ ห่วงชาวไร่อ้อยผลผลิตล้นตลาด หวั่นเกิดปัญหา

นายกฯ ขู่แกนนำเกษตรกรปลุกม็อบถูกดำเนินคดีแน่  ห่วงชาวไร่อ้อยผลผลิตล้นตลาด หวั่นเกิดปัญหา
 
 เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 22 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ถึงการแก้ไขปัญหายางพาราแบบยั่งยืนและครบวงจร ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐนำยางพาราตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน เข้าสู่การผลิตให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรของฝ่ายเศรษฐกิจ รวมทั้งวิจัยและพัฒนานำเข้าสู่การผลิต ที่จะตรงกับความต้องการของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างนวัตกรรม ทำให้วัสดุต้นทุนมีราคาสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ยางเท่านั้น รวมทั้งพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นด้วย ซึ่งสิ่งที่ผลิตออกมาต้องมีประโยชน์ บางอย่างไม่มีประโยชน์ไม่ต้องไปคิด โดยความเร่งด่วนตอนนี้คือเอา ผลผลิตในประเทศที่มีล้นตลาดมีมากมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสร้างห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องพื้นที่การปลูกยางพาราที่มีการร้องขอรับการอุดหนุนจากรัฐบาล ก็ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งคณะกรรมการการยางแห่งชาติ(กยท.) หารือแนวทางในการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม แต่ต้องเริ่มต้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย ใครที่ทำผิดกฎหมายจะให้รัฐบาลยอมรับให้ถูกต้องไม่ได้ แต่เราจะต้องหามาตรการในการช่วยเหลือไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง ข้อกฎหมาย วันนี้ก็จะได้นำมาตรการของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มาร่วมกันพิจารณาด้วย เพราะที่ผ่านมามีการบุกรุกป่า ทำให้ป่าเสียหาย ลดจำนวนลง แล้วผลผลิตก็เกินความต้องการ จึงต้องเร่งลดปริมาณในการเพาะปลู ขณะเดียวกันขอให้ผู้ที่ปลุกระดมให้มีการเรียกร้อง บรรดาแกนนำต่างๆ ระมัดระวัง และเคารพกฎหมายกันด้วย อย่าพาประชาชนไปเดือดร้อนด้วย ถ้าตัวเองอยากจะทำผิดกฎหมายก็ทำไป แต่จะถูกดำเนินคดี
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเป็นห่วงปัญหาการปลูกอ้อยเกินความต้องการ เพราะที่ผ่านมาพออะไรราคาดี ก็ปลูกกันจนมาก ราคาก็ตก จากมาตรการเดิมกฎหมายที่เราออกไปในสมัยรัฐบาลนี้ ก็คือการมีมาตรการที่เข้มงวดในการที่จะก่อตั้งหรือสร้างโรงน้ำตาล จากเดิมที่ว่า 80 กิโลเมตรในสมัยก่อนๆ ก็ได้ปรับลดลงเป็น 50 กิโลเมตรแล้ว แต่ก็ยังมีหลายบริษัทพยายามที่จะขอให้ลดลงไปอีก โดยให้ใกล้กว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งทำไม่ได้ เพราะได้กำหนดกติกากันแล้ว ตอนนี้ต้องมองว่าทำอย่างไรจะลดพื้นที่การปลูกลง เพราะพออ้อยผลผลิตมาก ก็มีปัญหาอีก โรงงานผลิตไม่ทัน รัฐบาลต้องการทำให้ยั่งยืน จึงขอให้เคารพกติกากันบ้าง เช่นเดียวกับการสร้างโรงน้ำตาล ถ้ามากเกินไปผลเสียในการที่ผลผลิตน้ำตาลออกมามากเกินไป ราคาก็ตกอีกอยากให้นึกถึงกฎหมาย นึกถึงกระบวนการผลิต ที่ต้องสมดุลกันตลอดเวลา
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของการช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ  เราพยายามแก้ไขมาโดยตลอดมีมาตรการออกมาเป็นสิบๆมาตรการ แต่ประชาชนต้องร่วมมือทุกโครงการเหล่านั้น ไม่ใช่ทุกคนก็จะเอาหมดทุกอย่าง ท้ายสุดจะต้องเอาเงินอีก ต้องพยายามเข้าใจข้อกฎหมาย เข้าใจนโยบายรัฐบาล การปลูกพืชเกินความต้องการ ปลูกในพื้นที่บุกรุก แล้วก็จะให้รัฐบาลรับผิดชอบทุกเรื่อง ก็ทำให้วงจรการแก้ไขปัญหาจับต้นชนปลายไม่ถูก วนไปวนมากลับที่เดิมหมด วันนี้เราต้องแก้ทั้งทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในลักษณะของประชารัฐ ขณะที่การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งรัฐบาลประกาศให้ทราบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่า ปีนี้น้ำจะแล้ง ฝนจะแล้ง ปรากฏฝนไม่ตก แล้งจริงๆ ปีหน้าก็อาจจะแล้งอีกก็ได้ ประมาทไม่ได้ รัฐบาลเตือนมาตลอด แต่อาจไม่ค่อยได้ฟัง ไม่สนใจ มุ่งแต่การจะปลูกพืชให้ได้ บางที่ก็แย่งน้ำกัน จนน้ำที่จะต้องปล่อยไปข้างล่างหายหมด ปัญหาน้ำเค็มเข้าในพื้นที่เพาะปลูกก็ตามมา เนื่องจากมีการผลิตโดยการเลี้ยงปลา กุ้ง ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ในพื้นที่ตอนในโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ
 
“ผมห้ามอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ทุกคนต้องเรียนรู้จะแก้ไขปัญหาของตัวเอง ช่วยกันรักษาความสมดุลของธรรมชาติอย่างไร อย่ามองเฉพาะธุรกิจของตัวเอง หากว่าอะไรเสียหายไปแล้ว มันจะแก้ไขได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของระบบนิเวศน์ เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีผลกระทบทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว