posttoday

วัฒนาข้องใจ "ปู" ถูกดำเนินคดีชี้จำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะ

11 มกราคม 2559

"วัฒนา เมืองสุข" ชี้โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ได้หวังผลกำไร-ขาดทุน ถามดำเนินคดีกับ "ยิ่งลักษณ์" ได้อย่างไร

"วัฒนา เมืองสุข" ชี้โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ได้หวังผลกำไร-ขาดทุน ถามดำเนินคดีกับ "ยิ่งลักษณ์" ได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายวัฒนา เมืองสุข อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ไม่ได้แปลกใจเลยกับข่าวที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กระทรวงการคลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้นไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขยายระยะเวลาในการนำพยานจำนวน 18 ปาก เข้าให้การเพิ่มเติมในคดีโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังอยู่ในระหว่างการสรุปสำนวนเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ที่แปลกใจคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดีได้อย่างไร

"โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นโครงการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐทางด้านเศรษฐกิจ ตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติให้รัฐต้อง "คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด" โครงการรับจำนำข้าวเปลือกจึงเป็นนโยบายสาธารณะ (public policy) ทางด้านเศรษฐกิจ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับเกษตรกรที่เป็นคนยากจนและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ การตั้งราคารับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดก็เพื่อช่วยเหลือชาวนาตามรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่รัฐประกอบธุรกิจค้าข้าว จึงไม่อาจประเมินผลโดยใช้คำว่ากำไรหรือขาดทุนกับโครงการที่เป็นนโยบายสาธารณะได้ เพราะรัฐไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร (profit making organisation) และภารกิจที่ทำเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอันไม่ใช่การประกอบธุรกิจ"นายวัฒนาระบุ

นายวัฒนาระบุอีกว่าเหตุที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เลือกดำเนินโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำให้ชาวนาได้รับประโยชน์สูงสุดเมื่อเทียบกับโครงการประเภทอื่นๆ แต่ไม่ใช่การประกอบธุรกิจที่อาจมีได้ทั้งกำไรและขาดทุน เพราะรัฐไม่มีทางที่จะได้ประโยชน์ทางตรงที่ถือเป็นกำไรจากโครงการเลย ตั้งแต่การตั้งราคารับจำนำต้องให้ชาวนาได้รับผลตอบแทนสูงสุด แต่เวลาขายหรือระบายต้องเป็นไปตามราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าราคาที่รับจำนำมา ยิ่งไปกว่านั้นหากราคาข้าวเปลือกในตลาดมีราคาสูงขึ้นกว่าราคาที่รับจำนำไว้จากชาวนา รัฐก็จะให้ชาวนามาไถ่ถอนเพื่อให้นำไปขายในราคาที่สูงขึ้น หรือรัฐอาจชดเชยส่วนที่เกินจากราคารับจำนำให้กับชาวนา ทั้งนี้ ตามรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ปรากฏว่าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเกษตรกรมาไถ่ถอนคืนจำนวนถึง 1,007,327.36 ตัน

นโยบายสาธารณะทุกโครงการจะต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการโดยการประเมินความสำเร็จของโครงการนั้น Thomas R. Dye ศาตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนโยบายสาธารณะกล่าวว่า "ต้องพิจารณาถึงผลกระทบและผลลัพธ์อย่างรอบด้าน" (policy evaluation is 'learning about the consequences of public policy') จึงไม่อาจพิจารณาเพียงผลผลิต (output) หรือผลโดยตรงจากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นคือรายรับรายจ่าย แต่จะต้องดูผลกระทบ (impact) อันเป็นผลข้างเคียงคือทำให้ชาวนาเกิดกำลังซื้อ และท้ายสุดต้องดูที่ผลลัพธ์ (outcome) คือผลระยะยาวที่เป็นจุดหมายปลายทางของโครงการ ได้แก่ ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย รัฐจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ตามเป้าหมาย ประชาชนมีเงินออมเพิ่มขึ้น มีการลงทุนในธุรกิจที่ต่อเนื่อง เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า GDP ขยายตัวและรัฐไม่ได้ก่อหนี้จนเสียวินัยการคลังโดยพิจารณาจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย

ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. สตง. TDRI และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการฯ กล่าวหาว่าว่าโครงการรับจำนำข้าวมีผลการดำเนินโครงการขาดทุนเป็นจำนวนมาก โดยพิจารณาเพียงผลผลิต ที่เป็นรายรับรายจ่ายของโครงการ เท่ากับเป็นการมองว่ารัฐบาลกำลังประกอบธุรกิจค้าข้าวเพื่อแสวงหากำไรซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนเพราะนี่คือนโยบายสาธารณะ ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบ ที่ทำให้ชาวนาที่มีจำนวนกว่า 4 ล้านครัวเรือนหรือกว่า 10 ล้านคนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดกำลังซื้อ ทำให้เกิดผลลัพธ์ ของนโยบายสาธารณะในภาพรวมตามที่กล่าวแล้ว นอกจากนี้ TDRI ยังมีความเป็นปฏิปักษ์เพราะเป็นผู้ผลักดันโครงการรับประกันราคาข้าวเปลือกของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์บริหารประเทศได้ประสบความสำเร็จขนาดนี้ยังถูกตามจองล้างทั้งทางแพ่งและทางอาญา