posttoday

"นายกฯ"ฟุ้งเร่งผลักดันอุตสาหกรรมยางพารา

01 มกราคม 2559

“บิ๊กตู่”ฟุ้งลงพื้นที่ภาคใต้ เร่งผลักดัน อุตสาหกรรมยางพาราสั่งช่วยเหลือทุกมิติวอนเกษตรกรสร้างความหลากหลายเพิ่มมูลค่า

“บิ๊กตู่”ฟุ้งลงพื้นที่ภาคใต้ เร่งผลักดัน อุตสาหกรรมยางพาราสั่งช่วยเหลือทุกมิติวอนเกษตรกรสร้างความหลากหลายเพิ่มมูลค่า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายคืนความสุขให้คนในชาติ ต่อกรณีที่ได้เดินทางลงพื้นที่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานต่างๆ ตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการ Rubber City มูลค่ากว่า 1,670 ล้านบาท ณ ศูนย์บริการการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่  จ.สงขลา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จสูงสุด รัฐบาลนี้ก็เข้ามาสานต่อ ผลักดัน ขยายผล การสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่ต้องอาศัยการเชื่อมโยงภาคธุรกิจอื่นๆด้วย โดยเริ่มจากในพื้นที่ ขยายไปสู่จังหวัด ภูมิภาค และทั่วประเทศ และไปต่างประเทศจะเรียกได้ว่าเป็น “ฐานการผลิตยางพารา” ที่เต็มรูปแบบสามารถรองรับการลงทุน จากนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ทั้งภายในและนอกประเทศได้ในอนาคต

นายกฯ กล่าวอีกว่า เราได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2564 จะมีนักลงทุน เข้ามาลงทุนโรงงานยางพารา ไม่ต่ำกว่า 70 ราย รวมมูลค่าการลงทุน ไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท  เพื่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 7,000 คน การเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา ไม่ต่ำกว่า 1 – 2 แสนตัน/ปี และมูลค่าการผลิต 6,000 – 14,000 ล้านบาทต่อปีเป็นต้นนะครับทั้งหมดนั้นเป็นวิธีการแก้ปัญหายางอย่างยั่งยืนโดยการใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น ขณะที่มาตรการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างครบวงจรนั้นเราจะต้องเดินหน้า Rubber City ของรัฐบาลให้ได้ผลอย่างจริงจัง โดยเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เราจะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก และ กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น โครงการนำร่อง “สวนยางในอนาคต”  โครงการวิจัยและพัฒนาร่วม  การจัดทำศูนย์ข้อมูล – ศูนย์แสดงสินค้า – โลจิสติกส์ – ตลาดกลาง – คลังสินค้า  รวมทั้ง สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม พัฒนาบุคลากร ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ในทุกๆ ด้าน และปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตล้อรถยนต์รายใหญ่ของจีน  2 บริษัทให้ความสนใจและติดต่อเพื่อเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตยางคอมปาวด์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า  รัฐบาลต้องส่งเสริมการสร้างโรงงานขนาดเล็ก ในการแปรรูปยางพาราในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการ SMEs  ทุกคนต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านในเรื่องระบบเศรษฐกิจ ของไทยในอนาคตด้วย ตนได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาช่องทางและสร้างแรงจูงใจ ดึงดูดนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา โดยพิจารณาสิทธิพิเศษ มาตรการด้านภาษี การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล  ตลาดในการส่งออก และด้านแรงงาน รวมทั้งการวิจัยและต่อยอดอุตสาหกรรมยางเพื่อจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  สำคัญที่สุดเวลานี้ก็คือ เราจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ครบวงจร โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็น “อุตสาหกรรมเขียว” เพื่อยกระดับฐานะ รายได้  และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่  ในการสร้างงานและความมั่นคงในอาชีพ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยความสมัครใจ ไม่ยึดติดกับการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้ประโยชน์พื้นที่ให้สูงสุด ต้องร่วมกันสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกร โดยให้หน่วยงานราชการ ทั้งจังหวัดและอำเภอรวบรวมข้อมูลเอกสาร นำเกษตรกรและสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลเรื่องการตลาดด้วย
 
“ผมอยากเห็นการแสวงหาความรู้มากกว่าใช้ประสบการณ์อย่างเดียว เราจะต้องส่งเสริมการทำงานร่วมกันในรูปแบบ “ประชารัฐ” ประชาชนเป็นผู้ที่กำหนดอนาคตของตนเองด้วย แล้วรัฐเป็นผู้สนับสนุน โดยแต่ละพื้นที่ รัฐบาลมีศูนย์อยู่แล้ว “ศูนย์บริการประชาชนด้านการเกษตร” เป็นสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต  9 แห่ง สำนักงานเกษตรจังหวัด 77 แห่ง สำนักงานเกษตรอำเภอ 882 แห่ง หากสำนักงานไหนที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือว่าไปถามแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ก็ไปถามท่านผู้ว่าฯ ก่อน จากนั้นก็กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ จะไปดูเอง แล้วท้ายสุด ถ้ายังแก้ไขอะไรไม่ได้ แจ้งมานายกรัฐมาตรี นี่ เดี๋ยวจัดการให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร อีก 36 แห่ง และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยี การเกษตร 14 แห่ง  รวมทั้งสิ้น 1,018 แห่ง ทั่วประเทศช่วยดำเนินการ” นายกฯ กล่าวย้ำ
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ ได้รับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ ถ้าเข้าใจว่าตนมาทำอะไร และตนไม่ได้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์เลย มาดูปัญหา มาแก้ปัญหา บางปัญหาแก้ง่าย บางปัญหาแก้ยาก เพราะต้องแก้พร้อมกันไป แต่จะเสร็จไม่เท่ากัน ทุกคนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น จะได้สัดส่วนสมดุลกัน ราคาสินค้า สินค้าทางไฮเทค เทคโนโลยีราคาสูง แต่ผลผลิตเราต่ำ แล้วเราจะไปซื้อเขาได้อย่างไร ทุกคนก็อยากใช้ไม่ใช่หรือทุกคนต้องช่วยกันทำตรงนี้ให้ขึ้นมาด้วย ให้เกิดการสมดุล ลูกหลานจะได้มีความสุข