posttoday

เพื่อไทยประมวลสถานการณ์รอบปีชี้ประเทศยังเผชิญปัญหาทุกมิติ

22 ธันวาคม 2558

พรรรคเพื่อไทย ประมวลสถานการณ์รอบปี 2558 ชี้ ประเทศยังคงเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในทุกมิติ การแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ หากความเข้าใจหรือการมองปัญหาไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความเป็นจริง

พรรรคเพื่อไทย ประมวลสถานการณ์รอบปี 2558 ชี้ ประเทศยังคงเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในทุกมิติ การแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ หากความเข้าใจหรือการมองปัญหาไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความเป็นจริง

วันที่ 22ธค. พรรรคเพื่อไทย ประมวลสถานการณ์ประเทศไทย  ว่า ปี 2558 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในทุกมิติทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยต้องให้ความสนใจ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนโดยตรง

พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองหลักพรรคหนึ่งของประเทศ ตระหนักในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จากการติดตามการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างใกล้ชิดตลอดปีที่ผ่านมา จึงเห็นควรประมวลสรุปสถานการณ์ด้านต่างๆ ในรอบปี 2558 ให้ทุกฝ่ายได้เห็นภาพรวมอันชัดเจนร่วมกัน ซึ่งหากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลมีสิ่งใดที่ขาดตกบกพร่อง ประชาชนชาวไทยจะได้วิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะความคิดเห็น เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติต่อไป

ประมวลสถานการณ์ประเทศไทย ปี 2558 ของพรรคเพื่อไทย มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

1) การปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น สังคมถามหาความจริงใจในการแก้ปัญหา

การรัฐประหารที่ผ่าน ๆ มา มักจะยกเรื่องการทุจริตของรัฐบาล ณ ขณะนั้น เป็นเหตุผลหลักในการเข้าควบคุมอำนาจ และมุ่งชี้เป้ามาที่ฝ่ายการเมืองว่าเป็นต้นตอของปัญหา แต่กลับละเว้นที่จะไม่กล่าวถึงฝ่ายอื่นๆ ทำให้ความจริงจังในการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น มักถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย  

  รัฐบาลปัจจุบันก็เช่นกัน ในช่วงแรกของการปกครองประเทศ ได้ประกาศให้ความสำคัญกับนโยบายปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง จะเห็นได้จากการที่หัวหน้า คสช. เป็นประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ทั้งยังมีการประกาศนโยบายและกำหนดมาตรการปราบปรามการทุจริตหลายประการ สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องตอบปัญหาต่อสังคมให้ชัดเจนต่อมา คือ รัฐบาลมีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามนโยบายนี้เพียงใด

นับแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ได้ปรากฏข่าวการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่การจัดซื้อไมโครโฟนในห้องประชุม ครม. ที่แพงที่สุดในโลก (เครื่องละ 1.4 แสนบาท) แต่รัฐบาลอ้างว่ายังไม่มีการทำสัญญา อีกทั้งยังมีข่าวโฆษกรัฐบาลในขณะนั้นเข้าไปรับงานประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานราชการจำนวนมาก รวมถึงการรับงานในโครงการธงฟ้าลดค่าใช้จ่ายของประชาชน นอกจากนี้มีข่าวบริษัทรับเหมาจัดงานโครงการคืนความสุขจังหวัดนนทบุรีเมื่อปี 2557 ที่มีค่าจ้างจัดทำงานถึง 10 ล้านบาท โดยบริษัทดังกล่าวมีชื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลบางท่านเป็นกรรมการด้วย ต่อมาก็ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าว ซึ่งทั้งสามกรณีดังกล่าวไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังขององค์กรตรวจสอบที่มีอำนาจหน้าที่ นอกจากนั้นยังมีข้อครหาว่ามีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในโครงการจัดสรรเงินให้ตำบลละ 5 ล้านบาท ล่าสุดคือ ความคลางแคลงใจในการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการออกมายอมรับของ
พลเอกอุดมเดช สีตะบุตรว่ามีการเรียกหัวคิวงานหล่อองค์พระรูปบูรพกษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์จริง แต่ได้นำเงินดังกล่าวบริจาคให้มูลนิธิแล้ว ย้อนแย้งกับผลการตรวจสอบของกองทัพบกที่ระบุว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริง เรื่องนี้ได้กลายเป็นกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก ในที่สุดต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตเข้าไปตรวจสอบใหม่ แต่ผลสอบก็ยังไม่เสร็จสิ้น ขณะนี้ความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนยิ่งเพิ่มมากขึ้นถึงกับต้องออกมาหาข้อมูลด้วยตนเอง แต่ประชาชนที่ต้องการตรวจสอบเหล่านี้กลับถูกขัดขวางและบางรายถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาที่รุนแรงเกินการกระทำ

นอกจากกรณีที่กล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังมีความจริงอื่นที่ฟ้องสังคมอีก เพราะปรากฏว่ามีบุคคลในองค์กรสำคัญๆ ของประเทศหลายต่อหลายคน รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง รวมถึงมีการตั้งเครือญาติเป็นที่ปรึกษา เหล่านี้ถือเป็นการท้าทายปัญหาทางจริยธรรมและเป็นการเอาเปรียบเงินภาษีของประชาชน ทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไปจำนวนไม่น้อย

  รัฐบาลนับว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีการถูกตรวจสอบ หรือการตรวจสอบเป็นไปโดยยากลำบาก อีกทั้งยังมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งถูกใช้ในหลายกรณี อาทิ ออกคำสั่งห้ามฟ้องร้องกรรมการและเจ้าหน้าที่ในโครงการจำนำข้าว นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการระบายข้าวไว้ล่วงหน้า

ความหวังที่จะเห็นการปราบปรามการทุจริตในรัฐบาลชุดนี้อย่างยุติธรรม โปร่งใส จึงเป็นข้อสงสัยของประชาชน และเป็นปัญหาที่สังคมต้องติดตามตรวจสอบ แม้จะมีความยากลำบากเพียงใดก็ตาม 

2) เศรษฐกิจฝืดเคือง คาดว่าไม่อาจกระเตื้องในเร็ววัน...รัฐบาลไม่เข้าใจปัญหา หรือขาดศักยภาพในการแก้ไขปัญหา

 ในเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งหวังไว้ เงินในกระเป๋าประชาชนมีน้อยลง คดีลัก วิ่ง ชิง ปล้นสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตต่ำสุดในอาเซียน ต่ำกว่าลาวและกัมพูชา การเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า ดัชนีตลาดหุ้นลงต่ำสุดในรอบปี จนรัฐบาลต้องเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกชุด แต่เมื่อเปลี่ยนแล้วสถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนในทุกระดับชั้นได้รับความยากลำบากโดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและผู้หาเช้ากินค่ำได้รับความลำบากมากที่สุด ทั้งนี้เพราะทุกกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างหยุดชะงัก

·  การส่งออกที่มีความสำคัญมากที่สุดที่มีสัดส่วนถึง 70% ของรายได้ประชาชาติ มีการขยายตัวติดลบถึงกว่า 5% ซึ่งถือว่าหนักมาก และยังมีแนวโน้มอนาคตที่ไม่ดีนัก เนื่องจากถูกสหภาพยุโรปหรืออียูตัดจีเอสพี และไม่สามารถเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปได้เพราะประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังถูกกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่อยู่แล้ว

·  การลงทุนต่างประเทศที่หดหายเพราะนักลงทุนไม่เสี่ยงที่จะมาลงทุน เนื่องจากอาจจะโดนกีดกันการค้าเพิ่มเติม ประกอบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียกประชาชนที่เห็นต่างมาปรับทัศนคติและการจับนักศึกษาประชาชน แม้กระทั่งการสืบสวนเพื่อที่จะดำเนินคดีกับทูตต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำลายความเชื่อมั่นของมิตรประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ การลงทุนที่ลดลงจะทำให้อนาคตการส่งออกยิ่งแย่มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงได้ย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เช่น เวียดนาม

·  การบริโภคของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ เพราะประชาชนขาดรายได้ในการบริโภค สินค้าเกษตรทุกชนิดราคาลดลง ธุรกิจ SME ต่างก็ขาดทุนและต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก การท่องเที่ยวก็มีแต่ปริมาณแต่ไม่มีคุณภาพ เพราะนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงไม่เข้ามาเนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย

·  การใช้จ่ายภาครัฐ เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ที่พอเดินหน้าได้ก็เป็นโครงการจากรัฐบาลเดิมเท่านั้น

·  ในภาพรวมเศรษฐกิจที่จะโตประมาณ 3% มาจากฐานเดิมที่ต่ำมากและเงินเฟ้อที่ติดลบ อีกทั้งการนำเข้าที่ลดลงมากเพราะไม่มีใครลงทุนเพิ่ม หากปล่อยไปแบบนี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศประสบปัญหาอย่างมาก และก่อผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนทั่วไป

·   เศรษฐกิจฐานรากฝืดเคือง ประชาชนเผชิญวิกฤตจากนโยบายเศรษฐกิจที่ตีบตัน ประชาชนคนจนเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาและผู้ใช้แรงงาน ไร้ทางออก

o  เศรษฐกิจฐานราก คือเศรษฐกิจประชาชน ที่เอื้อต่อปัญหาปากท้องของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ผลจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในช่วงปีที่กว่าที่ผ่านมา ตั้งแต่การยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตย ส่งผลให้เงินในระบบไม่หมุนเวียน "คนมีเงินไม่กล้าใช้เงิน คนจนหรือคนส่วนใหญ่ที่อยาก
ใช้เงิน แต่ไม่มีเงินให้ใช้" ประชาชนส่วนใหญ่รายได้หดหาย คนตกงาน หนี้สินพุ่งและธุรกิจโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กกำลังทยอยล้มละลาย เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาเผชิญปัญหารายได้หดหาย ไร้ทางออก ส่งผลต่อการยังชีวิตให้อยู่รอดของครอบครัว

o  ต้นเหตุสำคัญคือ รัฐบาลขาดนโยบายสนับสนุนราคาสินค้าเกษตร ขาดมาตรการที่เหมาะสม และปัญหาเรื่องภัยแล้งไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง แท้จริงแล้วปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสามารถหลีกเลี่ยงได้จากการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ริเริ่มโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โครงการนี้เป็นความหวังของเกษตรกรและชาวนาทั่วประเทศ ซึ่งหากในวันนั้นได้เริ่มลงทุน ปัจจุบันจะมีความคืบหน้าแล้วกว่า 50% ปัญหาภัยแล้งซึ่งสร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรงนี้จะไม่เกิดขึ้น

o  วงจรเศรษฐกิจตีบตัน ไร้ทางออก ขาดการสร้างสรรค์นโยบายที่ให้คุณค่ากับเกษตรกร ใช้อคติกล่าวหาและยกเลิกโครงการจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลประชาธิปไตยชุดนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศใช้เพื่อมุ่งดูแลสินค้าเกษตรและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร อันเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ เหมือนโครงการสาธารณะต่างๆ ที่ให้ประชาชน เกษตรกรทุกกลุ่มได้รับการประกันราคาพืชผล การยกระดับฐานรายได้ ขณะเดียวกันยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย การยกเลิกโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดนโยบายสำหรับเกษตรกรอื่นๆ มารองรับ ส่งผลกระทบให้ชีวิตของเกษตรกรไทยยิ่งถูกปล่อยปละละเลยให้เป็นไปตามยถากรรม ราคาสินค้าเกษตรอื่นยิ่งตกต่ำลงอย่างมาก เช่น ยางพารา และพืชไร่อื่นๆ เป็นต้น

o  นอกจากปัญหารายได้ของเกษตรกรตกต่ำแล้ว ผู้ประกอบกิจการในประเทศก็ต้องประสบภาวะขาดทุนและล้มเลิกกิจการลง จนถึงขั้นปิดกิจการไปกว่า 14,000 ราย ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 19% และในเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาสถานประกอบการปิดกิจการเพิ่มขึ้นถึง 33%
ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองของประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก 

ทั้งหมดคือสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ ไร้ทางออก อันสะท้อนศักยภาพในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการมองปัญหาที่ประกอบด้วยอคติ ไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง

การที่จะเรียกคืนความเชื่อมั่นและโอกาสกลับมา เพื่อเป็นต้นทุนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ คือ การทำให้ศักดิ์ศรีประเทศได้รับการยอมรับ การเร่งคืนประชาธิปไตย และการดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมหลักในการร่วมแก้ปัญหาและตัดสินอนาคตของตัวเองโดยเร็วที่สุด

3) ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง เลือกปฏิบัติและกำลังถูกทั่วโลกจับตามอง

การล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทย ทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดลงอย่างมาก โดยเฉพาะหากการใช้สิทธิ เสรีภาพนั้นกระทบกระเทือนรัฐบาลและ คสช. การใช้สิทธิ เสรีภาพเพื่อตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นหรือการปฏิบัติงานของรัฐบาลและ คสช.หรือบุคคลในรัฐบาลและ คสช. นอกจากถูกสั่งห้าม ข่มขู่ ขัดขวางแล้ว ผู้ใช้สิทธิยังต้องเผชิญกับมาตรการทั้งตามกฎหมายและนอกกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนไปยังตน ญาติและผู้ใกล้ชิดอีกด้วย

แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะบัญญัติไว้ในมาตรา 4 คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคอยู่แล้ว แต่ในมาตรา 44 หัวหน้า คสช.มีอำนาจจำกัดและละเมิดสิทธิ เสรีภาพของบุคคลใดๆ ไม่ว่ารุนแรงเพียงใด โดยถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ในทำนองอำนาจคือความถูกต้อง (Might is right) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง

 ารใช้อำนาจตามมาตรา 44 และการใช้มาตรการอื่นซึ่งอาจมีหรือไม่มีกฎหมายรองรับได้ละเมิดและจำกัดสิทธิ เสรีภาพประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชนและนักการเมืองอย่างกว้างขวางและหลายรูปแบบ ทั้งๆ ที่การใช้สิทธิ เสรีภาพส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปถูกห้าม พลเรือนที่ถูกกล่าวหาในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ต้องไปขึ้นศาลทหาร การชุมนุม การประชุมหรือเสวนาทางวิชาการแม้แต่ในสถาบันการศึกษาต้องได้รับความเห็นชอบจากทหาร ผู้ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ ถูกจับและนำไปปรับทัศนคติ สื่อมวลชนต้องระมัดระวังไม่เสนอข้อมูลที่กระทบรัฐบาลหรือ คสช.หากฝ่าฝืนก็ต้องเผชิญมาตรการตอบโต้รูปแบบต่างๆ นักการเมือง นักวิชาการ รวมทั้งประชาชนถูกควบคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติ หากแสดงความคิดเห็นที่ทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจ เกิดการข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน ผู้คนจำนวนมากถูกติดตามและให้รายงานต่อฝ่ายความมั่นคงเป็นระยะๆ กรณีล่าสุดคือนักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสของการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ถูกนำตัวไปควบคุม โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายตุลาการหรือองค์กรอิสระใดๆ จะสามารถคุ้มครองประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเช่นนี้ ถือได้ว่าย้อนยุคกลับไปสู่สมัยผู้นำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในอดีต ทั้งๆ ที่รัฐบาลกล่าวเองว่าสถานการณ์ในประเทศกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ซึ่งประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรหาแนวทางที่เป็นที่ยอมรับทางสากล เพื่อทำให้สถานการณ์คลายตัวโดยเร็ว  

4) ความเชื่อมั่นต่างประเทศถดถอย ต่างชาติรอคอยการคืนประชาธิปไตย

  การไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศที่ยึดมั่นในแนวทางการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สะท้อนให้เห็นจากการเยือนระหว่างกันในระดับผู้นำประเทศจะหยุดชะงักหรือลดน้อยลง ข้อตกลงต่างๆ ที่จะมีขึ้นร่วมกันระหว่างการหารือทวิภาคีของผู้นำประเทศก็เป็นอันต้องกระทบไปด้วย ความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ถูกลดระดับลง ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลได้รับผลกระทบทั้งต่อการค้าและการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าทุกครั้งที่ผู้นำรัฐบาลเดินทางไปประชุมในเวทีโลก มักจะถูกผู้นำหลายประเทศตลอดจนเลขาธิการสหประชาชาติสอบถามและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและการคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนชาวไทยอยู่ตลอดเวลา และโอกาสที่จะได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำของกลุ่มประเทศในซีกโลกที่เป็นประชาธิปไตยก็ดูจะน้อยลงตามไปด้วย

 ที่สำคัญ การจำกัดสิทธิ เสรีภาพและการลิดรอนสิทธิในการแสดงออกของประชาชนและการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ของคนไทยที่ปรากฏมาตลอดนั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติต่างก็ออกมาทักท้วงและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการกระทำที่ล่วงละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนโดยเร็ว ซึ่งต่างชาติมองเห็นว่ามีอีกหลายประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขาดขบวนการปกป้องและคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนชาวไทย และขาดหลักมนุษยธรรมต่อการลักลอบอพยพเข้ามาอยู่ในไทย เช่น กรณีชาวอุยกูร์และการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เป็นต้น

การบริหารราชการแผ่นดินภายหลังการรัฐประหาร จึงเกิดผลกระทบตามมาในด้านการต่างประเทศมากมาย กล่าวคือ ประเทศไทยต้องหยุดเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับอียูทันทีหลังจากเกิดการรัฐประหาร (ซึ่งเวียดนามได้ทำข้อตกลงนี้แล้ว), ประเทศไทยจะไม่ได้รับเลือกและเสียตำแหน่งในที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ประเทศไทยเริ่มถูกลดระดับจากมูลเหตุการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน จากระดับ TIER 2 มาอยู่ระดับ TIER 3, ประเทศไทยจะถูกอียูเพิ่มความเข้มงวดในการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือในการทำประมงของไทยและมีแนวโน้มที่จะยกระดับการเฝ้าระวังจากระดับธงเหลืองให้เป็นธงแดง, ประเทศไทยถูกประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ บางรายการและถูกลดความช่วยเหลือด้านอื่นๆ อีกด้วย

 นอกจากนี้การดำเนินการด้านต่างประเทศของรัฐบาลที่มักไม่คำนึงถึงหลักสากล เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับทูตสหรัฐฯ ทูตอังกฤษและสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ต่างชาติได้วิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยทั้งในด้านหลักการสากลและการละเมิดสิทธิของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น

 ในอนาคตจะส่งผลให้การบริหารงานของรัฐบาลยิ่งประสบความยากลำบาก ขาดความร่วมมือและอาจถูกมิตรประเทศในกลุ่มที่เป็นประชาธิปไตย ออกมาตรการอื่นๆ กดดันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยและการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

5) การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เชื่อมั่นประชาชน และสับสนในหลักการประชาธิปไตย นำประเทศไปสู่ความขัดแย้งและไร้ทางออก  

 ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำและความหวังของประชาธิปไตยในภูมิภาค เราเคยเสนอช่วยประเทศเพื่อนบ้านในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลกอย่างไทย กำลังประสบความยุ่งยากในการร่างรัฐธรรมนูญ

 รัฐธรรมนูญที่ดีที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชนนั้น ต้องมีเนื้อหาอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย ยอมรับและให้ความเคารพต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพของประชาชน คารพในสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม การจัดโครงสร้างองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยเป็นไปอย่างเหมาะสม มีดุลยภาพ มีความยึดโยงกับประชาชน ทำให้การใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบตรวจสอบที่เหมาะสมและมีความรับผิดชอบ ส่วนกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด

เมื่อดูการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งถูก สปช. ตีตกไปแล้วและการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สองที่กำลังดำเนินการอยู่ จะเห็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับหลักการที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยในส่วนของเนื้อหานั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบ ตั้งแต่ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คิดจะนำระบบใหม่มาใช้ ทั้งที่ระบบเลือกตั้งเดิมใช้ได้ดีอยู่แล้ว การเปิดโอกาสและช่องทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว.โดยการสรรหาแทนที่จะเป็นระบบการเลือกตั้งของประชาชน ที่มาขององค์อิสระและองค์กรตรวจสอบที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ไม่ปรากฏกลไกใดๆ ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ ซึ่งสร้างความแตกแยกในสังคมในประเด็นสองมาตรฐาน มีการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาเพื่อควบคุมการทำงานของรัฐบาลอีกชั้นหนึ่งซึ่งไม่เคยมีประเทศใดเคยใช้มาก่อน การเขียนรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจองค์อิสระและองค์กรตุลาการมากเกินไป จนไร้การตรวจสอบและทำให้อำนาจบริหารอ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินขาดประสิทธิภาพ รัฐบาลจะต้องเสียเวลากับการแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าที่จะแก้ปัญหาของประเทศและประชาชน

 ผู้ร่างจึงควรตระหนักว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ควรทำให้เกิดการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ และต้องเชื่อมั่นว่ากระบวนการประชาธิปไตยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสามารถแก้ปัญหาของชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องมีองค์กรพิเศษใดๆ ปัญหาของพัฒนาการประชาธิปไตยตลอด 83 ปีที่ผ่านมาคือ การที่คนบางกลุ่มไม่อดทนและไม่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย กติกาตามรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งคือการตัดสินของคนส่วนใหญ่ มักจะคิดว่ามีปัญหาก็ควรให้พวกตนแก้ไข แทนที่จะปล่อยให้ระบบแก้ไขตัวมันเอง

คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญและ คสช.ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างไม่ผ่านประชามติ เนื่องจากย่อมเล็งเห็นได้ว่าเนื้อหาในประเด็นใดที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนจะไม่ยอมรับ และ คสช. ควรแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อสร้างความชัดเจนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ คสช.จะมีทางออกอย่างไร เพื่อไม่ให้วิกฤตรัฐธรรมนูญซ้ำเติมเศรษฐกิจและก่อให้เกิดวิกฤตของชาติตามมา

6) การปฏิรูปในด้านต่างๆ ยังเลื่อนลอย การสร้างความปรองดองยังขาดรูปธรรม ปัญหาสังคมยังหมักหมม รอการคลี่คลาย

หนึ่งในข้ออ้างการยึดอำนาจครั้งนี้ คือการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ซึ่งควรเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของคนทั้งสังคม ไม่ใช่จากการยึดอำนาจ เกือบ 2 ปีที่ผ่านมายังไม่เกิดการปฏิรูปและการปรองดองที่เป็นรูปธรรม ตรงข้ามกลับมีหลายสถานการณ์ที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ อาทิ กระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตราฐาน การโยกย้ายข้าราชการที่เชื่อว่าใกล้ชิดกับรัฐบาลเก่าโดยอาศัยอำนาจพิเศษซึ่งทำลายขวัญและกำลังใจในการทำงานของข้าราชการทั้งประเทศ การกล่าวโทษ กล่าวหาผู้นำและรัฐบาลที่ผ่านมา เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ การแสดงความรังเกียจ ให้ร้ายนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับนโยบายที่ก่อประโยชน์และประสบความสำเร็จในอดีต เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โอท็อป(OTOP) กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน การสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินและระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ

ภายหลังการรัฐประหาร คสช. และรัฐบาลได้จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้นและมอบหมายให้ทำหน้าที่ช่วยดูแลและช่วยปรับปรุงประเทศ แต่ผ่านพ้นมาเกือบ 2 ปียังไม่พบความคืบหน้าในการปฏิรูปที่สำคัญๆ อย่างเป็นรูปธรรม จึงนับเป็นการยากที่จะคาดหวังความสำเร็จในการปฏิรูปในระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามโร้ดแมปของ คสช.

  รัฐบาลยังขาดความเข้าใจว่า กระบวนการปฏิรูปควรดำเนินการไปพร้อมๆ กับการทำงานที่ปรับไปตามสภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลเลือกใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลเข้าใจเองเกือบทุกเรื่อง รวมทั้งคณะ สปช. ที่ถูกจัดตั้งขึ้นจำนวนหลายร้อยคนไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม การเกิดขึ้นของสปช.ทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไปจำนวนไม่น้อย หาก สปช. สามารถทำหน้าที่ได้เต็มศักยภาพ ปัญหาการปักธงแดงขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) จะไม่เกิดขึ้น / ปัญหาการห้ามบินเข้าสหรัฐอเมริกาก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นต้น

  รัฐบาลนี้ได้เสียโอกาสในการนำเอานโยบายดีๆ มาแก้ไขปัญหาเพียงเพราะ "ติดกับดัก คำว่า..ประชานิยม" โดยกล่าวหาว่า นโยบายประชานิยมเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมือง ที่ใช้จ่ายเงินของรัฐเพื่อชิงอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ เช่น โครงการรับจำนำข้าวช่วยชาวนา หรือโครงการรถยนต์คันแรก โดยเป็นการกล่าวหาที่ขาดความเข้าใจปรัชญาของโครงการและรายละเอียดของปัญหาที่ประชาชนเผชิญ และที่สำคัญกลับหลีกเลี่ยงที่จะพูดหรือกล่าวถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค/SML/SME/และโครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกกล่าวหาเป็นประชานิยมแต่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป

  นอกจากนั้น ตามที่กล่าวมาแล้ว การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ นำมาซึ่งความอัตคัด แร้นแค้นของประชาชนและส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสังคมอีกมากมายตามมา ทั้งปัญหาอาชญากรรม/ปัญหาอบายมุข/ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว/การล่มสลายของสถาบันครอบครัวและการเสียโอกาสของคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย

  กล่าวโดยสรุป จะเห็นว่าการปฏิรูปยังเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย จับต้องได้ยาก การที่จะหวังได้เห็นความสำเร็จในการปฏิรูปในระยะเวลาที่เหลืออยู่จากรัฐบาลและ คสช. จึงเป็นความคาดหวังที่ไม่อาจเห็นผลสำเร็จได้ในระยะเวลาอันใกล้

สุดท้ายนี้ พรรคเพื่อไทยหวังว่าการสรุปประมวลทั้ง 6 ประเด็นสำคัญนี้ จะเป็นข้อพิจารณาให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้ทบทวน ไตร่ตรองแนวทางแก้ปัญหาที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากที่สุดต่อไป

“หากมองปัญหาได้ไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ถูกต้อง การแก้ไขปัญหาหรือการหาทางออกของประเทศย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ และกลับจะยิ่งสร้างปัญหาใหม่ๆ ตามมาอีกมากมายในอนาคต”