posttoday

กมธ. ชู 6 แนวทาง ปฏิรูปการเมืองโปร่งใส

09 ธันวาคม 2558

กมธ.การเมือง ชู 6 แนวทาง ปฏิรูปการเมืองเล็งกำหนดคุณสมบัติเข้มผู้สมัคร-ให้แจ้งการยื่นเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ขวางตั้งคปป. ทำหน้าที่ผ่าทางตัน โยนให้เป็นอำนาจส.ว.ผ่าวิกฤตประเทศ

กมธ.การเมือง ชู 6 แนวทาง ปฏิรูปการเมืองเล็งกำหนดคุณสมบัติเข้มผู้สมัคร-ให้แจ้งการยื่นเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ขวางตั้งคปป. ทำหน้าที่ผ่าทางตัน โยนให้เป็นอำนาจส.ว.ผ่าวิกฤตประเทศ

วันที่ 9 ธ.ค. ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) แถลงผลการประชุมของกมธ.ขับเคลื่อนด้านการเมืองว่า กมธ.ได้สรุปแผนการปฏิรูปด้านการเมือง 6 ด้าน ที่จะเสนอต่อที่ประชุมสปท.ประกอบด้วย 1.การให้ได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดี ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น มีจริยธรรมและคุณธรรม ไม่ทุจริต 2.การให้ได้มาซึ่งระบบการเมืองที่ดีเหมาะกับสังคมไทยโดยผ่านพรรคการเมือง 3.ให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม มีมาตรการป้องกันการลงทุนทางการเมือง เพื่อตัดตอนไม่ให้ไปสู่การถอนทุนและการทุจริต 4.การให้มีองค์กรตรวจสอบ มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 5.การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน เพื่อสร้างขนบธรรมเนียมอันดีงามทางการเมือง 6.การมีมาตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองให้คนในชาติ

นายเสรีกล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศ ในยามที่ประเทศเกิดทางตันนั้น กมธ.เห็นว่า ไม่ควรมีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ผ่าทางตันเช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.)  แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของส.ว.เป็นผู้พิจารณาหาทางออกในยามที่ประเทศเกิดวิกฤต เช่น ไม่มีนายกรัฐมนตรี  นายกฯไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง กล่าวว่า ในส่วนการให้ได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดีนั้น กมธ.เห็นว่า 1.ต้องกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งให้มีความเข้มข้นกว่าที่เคยกำหนด เพื่อคัดกรองบุคคลในเบื้องต้นก่อนที่จะให้ประชาชนเลือกตั้ง 2.การให้ผู้สมัครต้องเปิดเผยสำเนาการชำระภาษีย้อนหลัง 3 ปี ให้ประชาชนตรวจสอบได้ง่าย 3.ผู้ประสงค์จะรับสมัครเลือกตั้งต้องแสดงความจำนงต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อแสดงตนและแนะนำตนต่อสาธารณะก่อนประกาศพระราชกฎษฎีกาเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 ปี 4.ให้มีส.ส.เฉพาะระบบเขตจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้าครอบงำพรรคการเมืองผ่านระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 5.การให้ประชาชน 1 คน เลือกส.ส.ได้ 1 คนตามหลัก 1 คน 1 เสียง 6.ให้ส.ว.มีอำนาจเฉพาะการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ