posttoday

สุริยะใสแนะร่างรธน.ให้เสร็จภายในสิ้นปี-เปิดเวทีประชาพิจารณ์

15 พฤศจิกายน 2558

สุริยะใส แนะเขียนร่างรัฐธรรมนูญแรกให้เสร็จภายในสิ้นปี เปิดเวทีประชาพิจารณ์อย่างเข้มข้นเพื่อปรับปรุง ก่อนทำประชามติ

สุริยะใส แนะเขียนร่างรัฐธรรมนูญแรกให้เสร็จภายในสิ้นปี เปิดเวทีประชาพิจารณ์อย่างเข้มข้นเพื่อปรับปรุง ก่อนทำประชามติ

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในขณะนี้คงเร็วเกินไปที่จะประเมินร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปสำเร็จหรือไม่ คงต้องรอดูภาพรวมทั้งฉบับอีกทีหนึ่ง เพราะการแยกย่อยมองที่ละส่วนแบบที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ยังยากแก่การตัดสินใจเพราะบางเรื่องต้องรอให้ กรธ.คิดให้สุดหรือเสนอแต่ละเรื่องให้เป็นระบบมากกว่านี้ ไม่ใช่คิดหรือเสนอออกมาครึ่งๆกลางๆ แบบที่เป็นอยู่แล้วเกิดข้อโต้แย้งจากสังคม จนทำให้บรรยากาศการปฏิรูปดูเต็มไปด้วยความขัดแย้งมากกว่าความร่วมไม้ร่วมมือ

ฉะนั้น กรธ.เวลาแถลงหรือเปิดประเด็นในแต่ละมาตราก็ควรมองทั้งระบบหรือให้ได้ข้อยุติมีเหตุผลรองรับในแต่ละเรื่องค่อยมาแถลงเพื่อให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่เปิดประเด็นมาแบบโยนหินถามถางพอสังคมโต้แย้งก็ไม่ได้นำไปปรับปรุงใดๆ ท่าทีแบบนี้จะส่งผลเสียต่อช่วงการลงประชามติ เพราะถ้าอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านจริงๆ ก็ต้องให้สังคมมีส่วนร่วม ซึ่ง กรธ.ต้องออกแบบให้น่าเชื่อถือมากกว่านี้

"ผมเสนอให้ กรธ.เร่งเขียนร่างแรกให้เสร็จภายในสิ้นปี จากนั้นจะมีเวลาเหลืออีกกว่า 4 เดือนแล้วจัดเวทีรับฟังความเห็นหรือประชาพิจารณ์ในแต่ละประเด็นแต่ละหมวดอย่างเข้มข้นเพื่อปรับปรุงให้ได้ข้อยุติจากภาคส่วนต่างๆ มากที่สุด เพราะถ้าเขียนไปฟังไปแบบนี้ก็หาข้อยุติไม่ได้สักเรื่องและเวลาก็จะหมดไปเรื่อยๆ เพราะ กรธ.มีเวลาจำกัดแค่ 6 เดือนเท่านั้น"นายสุริยะใสกล่าว

นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า การทำงานของ กรธ.นับวันมีความเสี่ยงสูงว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับสุกเอาเผากิน เพราะไปเริ่มเขียนใหม่ไม่ได้ต่อยอดหรือนำร่างของคณะกรรมาธิการยกร่างๆ มาปรับปรุงอย่างที่พูดไว้ตอนต้น และบางเรื่องเป็นเรื่องใหม่เช่นระบบเลือกตั้ง ที่มานายกฯ แค่ 2 เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาถกเถียงกว่าจะได้ข้อยุติเพราะไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนในโลกนี้ จึงอยากเตือน กรธ.ว่า การคิดใหม่ในหลายเรื่องอาจไม่ใช่นวัตกรรมก็ได้ ถ้าเรื่องที่คิดไม่ตอบโจทย์สภาพการณ์ทางสังคมการเมือง แต่อาจเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ จนทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญกลายเป็นอุตสาหกรรมเขียนกันไม่รู้จบเสียที