posttoday

"มีชัย" แจง 7 เหตุผลเสนอระบบเลือกตั้งใหม่

02 พฤศจิกายน 2558

ประธานคณะกรรมการรร่างรัฐธรรมนูญ แจง 7 ข้อย้ำประโยชน์ระบบเลือกตั้งสส.ใหม่ ระบุ เป็นการสร้างความปรองดอง

ประธานคณะกรรมการรร่างรัฐธรรมนูญ แจง 7 ข้อย้ำประโยชน์ระบบเลือกตั้งสส.ใหม่ ระบุ เป็นการสร้างความปรองดอง

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ตามที่มีข้อท้วงติงเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งสส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมในช่วงที่ผ่านมานั้นขอชี้แจงทีละข้อ ดังนี้

1.การเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องเริ่มต้นว่าเราจะยอมเคารพเสียงของประชนมากน้อยเพียงใดในการไม่ให้คะแนนประชาชนสูญเปล่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเราใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ  โดยบัตรเลือกตั้งใบหนึ่งนับคะแนนหมด  แต่บัตรเลือกตั้งอีก 1 ใบนับส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือคะแนนจะถูกทิ้งน้ำไป 

2.เวลาที่กรธ.คิดประเด็นนี้ ไม่ได้คิดถึงพรรคการเมืองใด และไม่คิดว่าจะเกิดประโยชน์หรือโทษใดกับพรรคการเมือง  คิดแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้คะแนนของประชาชนมีน้ำหนักนำไปใช้ในการออกเสียงเลือกตั้งใหม่มากที่สุด

3.วิธีนี้ กรธ.มองว่าเป็นวิธีการปรองดองย่างหนึ่งคือให้คะแนนเฉลี่ยกันไปทุกพรรค

4.สำหรับนักวิชาการหรือสื่อมวลชนที่ชอบอ้างว่า ไม่มีประเทศใดทำกัน ขอชี้แจงว่าคนไทยเรามีสติปัญญา ที่จะคิดอะไรออกได้เอง ที่เหมาะสมกับบริบทของการเมืองไทย การไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศไม่ใช่ไปจำตำราของเขามาใช้อย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประทศของเรา 

5.ถ้าเราจะเอาโลกมาเป็นตัวอย่าง ก็ต้องถามว่าโลกนี้เคยมีรัฐบาลไหน ที่ออกมาพูดในที่สาธารณะ ว่าคนภาคหรือจังหวัดนี้ไม่เลือกพรรคของตนจึงไม่จัดสรรงบประมาณให้  หรือเอาโครงการจากจังหวัดหนึ่งย้ายไปอีกจังหวัดหนึ่งเพียงเพราะจังหวัดนั้นไม่ได้เลือกคนของรัฐบาล ที่อื่นมีหรือไม่ไม่รู้ แต่ประเทศไทยมี ซึ่งทางกรธ.กำลังพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา โดยระบบการเลือกตั้งใหม่ทุกจังหวัดจะมีคะแนนเสียงเอื้อต่อทุกพรรคการเมืองมากบ้างน้อยบ้าง จนสามารถพูดได้ว่าคนทั้งประเทศสนับสนุนทุกพรรคมากบ้างน้อยบ้างสุดแล้วแต่กำลังศรัทธาของงแต่ละพรรค

6. พรรคจะต้องคัดเลือกคนดีที่สุดลงสมัคร  แม้จะรู้ว่าคะแนนในเจตนั้นจะสู้พรรคการเมืองอื่นไม่ได้  แต่ก็ยังมีความหวังที่จะได้คะแนนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ 

7. ในการเลือกตั้งปี 2554 มีเขตเลือกตั้ง 375 เขต มีถึง 120 เขตที่คะแนนของผู้รับเลือกตั้งได้น้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับเลือกรวมกัน ดังนั้น เมื่อทุกพรรคมุ่งมั่นว่าต้องฟังเสียงประชาชน เราก็ต้องใช้เสียงประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ต้องลดการคิดถึงประโยชน์ของพรรคแล้วหันมานึกถึงประโยชน์ของประชาชนให้มากขึ้น

"ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเรากำลังมีปัญหาในเรื่องของความไม่เข้าใจกัน ตัวอย่าง ในครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 10 คน โดยแต่ละวันมีกับข้าวได้เพียงอย่างเดียว แล้วให้ลงคะแนนกันว่าจะกินอะไร โดย 4 คนลงคะแนนว่ากินแกงเผ็ด  3 คนลงคะแนนว่ากินแกงจืด 2 คนลงคะแนนว่าจะกินผัดผัก 1 คนไม่ลงคะแนน   ถ้าใช้หลักการนี้ทุกคนก็ต้องกินแกงเผ็ดไปทั้งอาทิตย์ ดังนั้น กรธ.จึงหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรใน 1 อาทิตย์ จะมีแกงจืด 2 วันผัดผัก 1วัน ที่เหลือจะกินแกงเผ็ดไปอีก 4 วันก็ไม่ว่ากัน แต่อย่างน้อยชีวิตในครอบครัวก็จะอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ขมขื่นจนเกินไป ไม่ต้องกินแกงเผ็ดไปทั้งอาทิตย์"นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสำหรับตัวเลขระหว่างสส.เขตและสส.บัญชีรายชื่อนั้น ทางกรธ.อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสม แต่จะพยายามให้ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมาให้มากที่สุด ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพราะไม้ต้องการให้ใครเอาตัวเลขครั้งที่แล้วไปทำให้เกิดความตระหนกตกใจ  ส่วนคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.นั้น เบื้องต้นมองว่าไม่ว่าจะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใด คุณสมบัติก็จะต้องเข้มขึ้น

เมื่อถามว่า จะมีการเขียนกำหนดห้ามไม่ให้พรรคการเมืองส่งพรรค นอมินีลงเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เราคงไม่ห้าม แต่ใครที่คิดจะกระทำการทุจริตการเลือกตั้งเราตัดสิทธิตลอดชีวิต แต่ไม่ว่าจะใช้ระบบไหน ก็มีพรรคนอมินีทั้งนั้น ก็ต้องถามว่าแล้วจะตั้งไปเพื่ออะไร ถ้าคิดตั้งก็แสดงว่าจะมีการทุจริตเลือกตั้ง ตั้งแต่แรก  และจะกำกับได้อย่างว่าให้ประชาชนเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ พอดีพอร้ายทั้ง 2 พรรคก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย