posttoday

วัฒนาแฉจำนำข้าวทำลายยิ่งลักษณ์เพื่อไทย

21 ตุลาคม 2558

"วัฒนา เมืองสุข"โต้คดีจำนำข้าวแฉเป็นแผนสมคบคิดของฝ่ายตรงข้ามทำลาย"ยิ่งลักษณ์"และพรรคเพื่อไทย

"วัฒนา เมืองสุข"โต้คดีจำนำข้าวแฉเป็นแผนสมคบคิดของฝ่ายตรงข้ามทำลาย"ยิ่งลักษณ์"และพรรคเพื่อไทย

นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยแพร่บทความ "ความจริงเรื่องโครงการรับจำนำข้าว"ดังนี้

โครงการรับจำนำข้าวกำลังเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม ผมขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้เพื่อให้สังคมได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าเป็นโครงการประชานิยมที่ทำความเสียหายให้ประเทศอย่างย่อยยับอย่างที่อีกฝ่ายกล่าวหาหรือไม่ หรือเรื่องนี้เป็นการสมคบคิดของอีกฝ่ายเพื่อทำลายนายกยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย

1. โครงการรับจำนำข้าวหรือโครงการประกันราคาข้าว เป็นโครงการที่รัฐบาลมีขึ้นเพื่อให้คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาวนาเพื่อให้สินค้าเกษตรที่ชาวนาผลิตคือข้าวเปลือกได้รับผลตอบแทนสูงสุด ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ว่ารัฐมีหน้าที่ต้อง "คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด" การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่โครงการประชานิยมตามที่อีกฝ่ายพยายามกล่าวหา ส่วนจะให้ความช่วยเหลือรูปแบบใดเป็นดุลพินิจทางการเมืองของแต่ละรัฐบาล

2. หน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญคือต้องทำให้สินค้าเกษตร "ได้รับผลตอบแทนสูงสุด" จึงเป็นโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะด้านเศรษฐกิจไม่ใช่โครงการเพื่อการพาณิชย์ที่ไม่สามารถเอากำไรขาดทุนมาชี้วัดดังที่หลายฝ่ายรวมทั้ง ป.ป.ช. พยายามบิดเบือนวัตถุประสงค์ของโครงการ เช่นเดียวกันกับโครงการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านอื่นๆ เช่นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามแนวนโยบายด้านความมั่นคง หรือการสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้หรือทุพพลภาพ เป็นต้น ที่ไม่สามารถเอากำไรขาดทุนมาเป็นตัวชี้วัดได้เช่นกัน

3. การช่วยเหลือชาวนาอาจทำได้อีกแบบในรูปของ "โครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร" ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ดำเนินนโยบายนี้ตามข้อเสนอของ TDRI โดยมี ป.ป.ช. เป็นฝ่ายสนับสนุนดังข้อเสนอที่ให้รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์นำเอาโครงการประกันราคาไปดำเนินการแทนโครงการรับจำนำข้าว (หนังสือด่วนมากที่ ปช 0003/0118 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554) โครงการทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียและประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือชาวนาต่างกัน กล่าวคือ

(1) โครงการประกันราคาของพรรคประชาธิปัตย์กำหนดราคาประกันข้าวเปลือกเจ้าไว้ที่ไม่เกินตันละ 10,000 บาท โดยให้ชาวนาไปขายข้าวเปลือกกับโรงสีเอง หากชาวนาขายได้ต่ำกว่าราคาประกันเท่าไรรัฐจะชดเชยส่วนที่ขาดนั้นแต่ไม่เกินตันละ 2,000 บาท ข้อดีของโครงการนี้คือรัฐไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในเรื่องราคา การขายและภาระในการเก็บรักษาโดยผลักภาระให้ชาวนาไปแบกรับความเสี่ยงแทน รัฐเพียงชดเชยให้ชาวนาไม่เกินตันละ 2,000 บาท ส่วนข้อเสียคือชาวนาไม่มีโอกาสที่จะได้รับเงินค่าข้าวเปลือกที่ตันละ 10,000 บาท ตามที่รัฐประกันไว้

(2) โครงการรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยกำหนดราคาประกันข้าวเปลือกเจ้าไว้ที่ตันละ 15,000 บาท โดยชาวนาต้องจำนำและส่งมอบข้าวเปลือกไว้กับรัฐ ข้อดีของโครงการนี้คือชาวนาไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้านราคาและจะได้รับเงินค่าข้าวเปลือกตามราคาที่รัฐกำหนดคือ 15,000 บาท ข้อเสียคือรัฐเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านราคา มีภาระในการเก็บรักษาและการระบายสินค้าที่รับจำนำไว้

4. จึงมาถึงคำถามสำคัญที่สังคมต้องตัดสินใจว่า สังคมไทยจะเลือกให้ชาวนาที่ยากจนอยู่แล้วเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านการขายและราคาหรือจะให้รัฐเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงไว้แทน หากจะผลักภาระไปให้ชาวนาเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแบบที่พรรคประชาธิปัตย์ทำโดยมี ป.ป.ช. สนับสนุนก็เลือกดำเนินโครงการประกันราคา แต่พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะแบกรับความเสี่ยงไว้แทนชาวนาจึงเลือกดำเนินโครงการรับจำนำ เพราะเป็นโครงการที่เห็นได้ชัดเจนว่าชาวนาได้รับเงินมากกว่าโครงการประกันราคาอย่างน้อยตันละ 5,000 บาท หากคิดตามผลผลิตข้าวทั้งประเทศที่ปีละ 30 ล้านตันข้าวเปลือก จะทำให้เงินไปเพิ่มขึ้นในมือชาวนาอย่างน้อยปีละ 150,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 7 รอบทำให้เกิดการใช้จ่ายส่งผลให้รายประชาชาติหรือ GDP เพิ่มขึ้น

5. ธ.ก.ส. เป็นผู้จ่ายเงินค่าข้าวเปลือกให้กับชาวนาโดยการโอนเงินผ่านบัญชีของชาวนาที่เปิดไว้กับธนาคาร เงินที่รัฐบาลจ่ายให้กับชาวนาไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรก็ตามล้วนทำตามวิธีดังกล่าวนี้ กล่าวได้ว่าชาวนาได้รับเงินตามโครงการที่รัฐช่วยเหลือทุกบาททุกสตางค์ไม่มีการตกหล่น จึงตอบข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ที่อ้างว่าโครงการนี้ผู้ได้รับประโยชน์เป็นเพียงบุคคลบางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมเกษตรอย่างทั่วถึงซึ่งเป็นความเท็จ เพราะชาวนาได้รับเงินค่าข้าวจาก ธ.ก.ส. ทุกบาททุกสตางค์ สำหรับโครงการประกันราคาของพรรคประชาธิปัตย์รวม 2 ปี จ่ายเงินให้กับชาวนาไป 130,455 ล้านบาท เป็นการจ่ายขาดที่รัฐไม่ได้ข้าวเปลือกกลับมาและชาวนาได้รับเงินไม่เกินตันละ 2,000 บาท ส่วนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์รวม 3 ปี จ่ายเงินให้กับชาวนาไป 870,018 บาท โดยรัฐได้ข้าวเปลือกมาเป็นการแลกเปลี่ยนและชาวนาได้เงินค่าข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท

6. นโยบายรับจำนำข้าวจึงเป็นนโยบายทางการเมืองที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยอมแบกรับความเสี่ยงไว้แทนชาวนา ความสำเร็จของโครงการคือการทำให้ข้าวเปลือกอันเป็นสินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุดและชาวนาได้รับเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่มีใครไปเบียดบังผลประโยชน์ การกำหนดราคารับจำนำหรือราคารับซื้อจึงต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชาวนาโดยดูจากต้นทุนการผลิตและกำไรที่ชาวนาพึงได้ รัฐจะไม่นำเอาราคาตลาดมาเป็นเงื่อนไขหากราคานั้นไม่ทำให้ชาวนาอยู่ได้ รวมถึงผลกำไรขาดทุนจะไม่นำมาพิจารณาเพราะเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ต้องช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่โครงการแสวงหากำไรจากชาวนาดังที่หลายฝ่ายรวมทั้งอัยการสูงสุดที่ยังเข้าใจผิดจึงได้บรรยายมาในคำฟ้องข้อ 2.4.3 ว่า "การดำเนินโครงการมีผลขาดทุนสูงมาก"

7. ในการกำหนดราคารับจำนำ พรรคเพื่อไทยพิจารณาจากต้นทุนการผลิตของชาวนาเป็นหลักแล้วบวกผลกำไรให้เพื่อให้ชาวนามีรายได้อย่างน้อยเท่าค่าแรงงานขั้นต่ำ ดังตัวอย่างการกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ที่ตันละ 15,000 บาท มีที่มาจากโดยเฉลี่ยชาวนาจะมีพื้นที่เพาะปลูกครัวเรือนละ 21 ไร่ ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 549 กิโลกรัม ผลผลิตต่อครัวเรือนปีละ 23.058 ตัน ต้นทุนการผลิตตันละ 9,067 บาท ชาวนาจะมีกำไรตันละ 5,933 บาท เท่ากับมีรายได้หลังหักต้นทุนปีละ 136,803 บาท หรือเดือนละ 11,400 บาท ครัวเรือนหนึ่งมีชาวนาในวัยทำงาน 2 คน จึงมีรายได้เพียงคนละ 5,700 บาทต่อเดือนซึ่งยังต่ำกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำ ท่านทั้งหลายยังคิดว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ชาวนามากไปอีกเหรอครับ ส่วนท่านที่เสนอให้กำหนดราคารับจำนำตามราคาตลาดซึ่งจะทำให้ชาวนาขาดทุนแล้วชาวนาจะอยู่ได้อย่างไรครับ ไม่ใจดำกับชาวนาที่เป็นคนที่จนที่สุดในแผ่นดินไปหน่อยเหรอครับ

8. ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดคือขั้นตอนการช่วยเหลือชาวนา จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องระบายข้าวสารที่รับจำนำไว้เพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด เพราะการระบายจะต้องเป็นไปตามราคาตลาดต่างกับการกำหนดราคารับจำนำจากชาวนาที่ต้องให้ผลตอบแทนสูงสุด การขายจึงได้ราคาต่ำกว่าตอนรับซื้อหรือรับจำนำทั้งสิ้นซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากวันที่รับสินค้าเข้ามากับวันที่ระบายออกไปยิ่งนานเท่าไรสินค้าก็จะยิ่งมีความเสื่อมสภาพมากขึ้นเท่านั้น จะขายให้เท่าทุนหรือสูงกว่าที่รับซื้อมาย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังเช่นที่รัฐบาลนี้รับซื้อยางจากชาวสวนยางที่กิโลกรัมละ 63.15 บาท แต่ขายให้จีนไปกิโลกรัมละ 42 บาท ต่ำกว่าที่รับซื้อมากิโลกรัมละ 21 บาทโดยไม่รวมค่าฝากเก็บหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ขายไป 200,000 ตันก็จะขาดทุนอย่างน้อย 4,200 ล้านบาท หรือที่รัฐบาลนี้ประมูลขายข้าวทั้งหมด 11 ครั้ง จำนวน 4.66 ล้านตัน ได้เงินมา 5.06 หมื่นล้านบาท เท่ากับขาดทุนไปอย่างน้อย 6.52 หมื่นล้านบาท หรือการที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จ่ายเงินจากโครงการประกันราคาข้าวไป 130,000 ล้านบาท หากจะนำเอาเรื่องขาดทุนมาเป็นเหตุฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายกยิ่งลักษณ์แล้วก็จะต้องดำเนินคดีกับพลเอกประยุทธ์และนายอภิสิทธิ์ด้วยเช่นกัน

9. ที่กล่าวมาทั้งหมดคือภาพรวมของโครงการรับจำนำข้าวที่ให้ผลประโยชน์กับชาวนาสูงสุด อันจะส่งผลดีมายังระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงน่าจะเป็นคำตอบที่เหตุใดพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยจึงคัดค้านและพยายามทุกวิถีทางที่จะล้มเลิกโครงการรับจำนำข้าวนี้ให้ได้ เพราะยิ่งชาวนาได้รับการดูแลปกป้องผลประโยชน์มากขึ้นเท่าไรก็ตามพวกเค้าก็จะยิ่งหมดโอกาสที่จะกลับมามากขึ้นเท่านั้นเพราะชาวนาคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ สำหรับผมในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าถ้าเราได้กลับมาเป็นรัฐบาล เราจะเลือกที่จะแบกรับภาระความเสี่ยงเรื่องราคาไว้แทนชาวนาด้วยการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไปแม้จะต้องเสี่ยงกับการติดคุกก็ตาม เราคงไม่ทรยศชาวนาโดยเลือกงานสบายแต่ผลักภาระความเสี่ยงเรื่องราคาและการขายไปให้ชาวนาแบกรับด้วยการดำเนินโครงการประกันราคาแบบที่พรรคประชาธิปัตย์ TDRI และ ป.ป.ช. อยากให้ทำ