posttoday

"เอนก"ยันคปป.ไม่ใช่โปลิตบูโร

28 สิงหาคม 2558

กมธ.ยกร่างรธน. ยืนยัน กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่ใช่เป็นการปูทางไปสู่โปลิตบูโร

กมธ.ยกร่างรธน. ยืนยัน กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่ใช่เป็นการปูทางไปสู่โปลิตบูโร

วันที่ 28 ส.ค. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ระบุว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและความปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะเป็นการปูทางไปสู่โปลิตบูโรนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ ซึ่งเข้าใจว่ากรณีที่พูดด้วยความเป็นห่วง เพื่อให้ระมัดระวัง แต่ไม่เป็นอย่างนั้นง่ายๆ และสังคมไทยมีต้นเป็นประชาธิปไตย รากแข็งแกร่งและอยู่ลึกมาก สู้กันมากว่า 40 ปี ใครจะยอมให้กลายเป็นเผด็จการง่ายๆ และการปรองดองไม่ใช่เฉพาะกฎหมาย ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐธรรมนูญ ถือว่าถูกต้อง แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เอื้อเฟื้อให้เกิดการปรองดองก็เขียนได้

"เราก็อยู่บนวิสัยที่จะเขียน ก็ควรจะเขียน ส่วนปรองดองไม่ได้อยู่ใน คปป. ยังอยู่ที่เราเพิ่มอำนาจของประชาชน ให้ประชาชนมีอำนาจโดยตรง ประชาชนตรวจสอบคอรัปชั่นและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยรัฐต้องเปิดข้อมูลให้กับประชาชน ตรงนี้จะลดความขัดแย้งระหว่างการเมืองภาคประชาชนและการเมืองภาคผู้แทน พูดจริงๆ ความขัดแย้งที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและประชาชนทั้งนั้น ทั้งสีเหลืองกับรัฐบาล ที่บอกว่ารัฐบาลคอรัปชั่น, สีแดงกับรัฐบาล ที่บอกว่ารัฐบาลเป็นอำมาตย์ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้ภาคประชาชนและภาครัฐขัดแย้งน้อยลง คือการเอาบทบาท หน้าที่ และอำนาจให้ภาคประชาชนมากขึ้น"นายเอนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตรงนี้จะไม่ทำให้ลงไปสู่ท้องถนนเหมือนเมื่อก่อน นอกจากนั้น คิดว่าเรื่องปฏิรูป ที่มีหลายมาตราเขียนไว้ เช่น ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความแตกต่าง ส่งเสริมชาวนา แรงงาน ให้มีสวัสดิภาพและสวัสดิการ ซึ่งการปฏิรูปและปรองดอง ขอให้นักการเมืองอนุโลม หรือ อนุวัติตาม หากไม่ทำต้องเผชิญกับคปป. ไม่ใช่ว่าจะพิชิตคปป. ไม่ได้ แต่มันยุ่งเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าไม่มีใครอยากมาเหนื่อยเพื่อสู้กับคปป. ยอมทำตามที่คปป. ซึ่งสปช.เดิมอยู่ในนั้นด้วย รวมถึงคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง (กอส.)  ที่จะทำเรื่องความปรองดอง โดยจะนำพื้นฐานของข้อมูลการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆ  มาต่อยอด

สำหรับประเด็นสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยแบบผ่านผู้แทนอย่างเดียว เป็นประชาธิปไตยแบบโดยตรงมากขึ้น คือ หากมีการยึดอำนาจการเลือกตั้งได้ ไม่ใช่ได้อำนาจไปทั้งหมด เพราะต้องแบ่งอำนาจให้ประชาชนโดยตรง แบ่งให้คปป. อย่างน้อยอีก 4 ปี และหลังจากนั้นต้องแบ่งกับประชาชนฝ่ายเดียวมากขึ้น เพราะฝ่ายต่างๆ จะหมดไปตามลำดับ ส่วนความเคลื่อนไหวของนักการเมืองต่อการต้านร่างรัฐธรรมนูญโดยเนื้อแท้แล้วเขาพอรับได้