posttoday

สปช.เตรียมส่งแผนปฏิรูปสื่อให้รัฐบาล

28 กรกฎาคม 2558

สปช.เตรียมส่งแผนปฏิรูปสื่อให้รัฐบาล หลังกมธ.ปรับแก้ไข 5 ประเด็น

สปช.เตรียมส่งแผนปฏิรูปสื่อให้รัฐบาล หลังกมธ.ปรับแก้ไข 5 ประเด็น

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ ที่มีนายจุมพล รอดคำดี เป็นประธานฯ ได้ส่งรายงานและร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ... ฉบับที่ปรับปรุงและแก้ไขตามข้อเสนอและความเห็นของสปช. รวมถึงภาคส่วนต่าๆ ที่เกี่ยวข้องไปยังนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เพื่อให้พิจารณาส่งไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว

ทั้งนี้มี 6ประเด็นที่ที่ประชุมยกมาพิจารณาและบางเรื่องมีมติแก้ไข ประกอบด้วย 1. เปลี่ยนชื่อเรียกขอใบรับรองการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นบัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพ,2.ประเด็นคำว่า สวัสดิการ และสวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ได้คงไว้ตามบทบัญญัติเดิม แต่ได้เขียนคำนิยามให้มีความหมายที่ชัดเจน กล่าวคือ คำว่าสวัสดิการ จะหมายถึงความปลอดภัย การได้รับการดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่และรวมถึงการเดินทางด้วย ขณะนี้สวัสดิการจะหมายถึงรายได้ 3.ประเด็นเงินประเดิมเพื่อจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ประชุมได้ยืนตามบทบัญญัติเดิมที่ช่วงแรกของการก่อตั้ง รัฐต้องจัดสรรเงินทุนประเดิมให้ ทั้งนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทุนประเดิมดังกล่าวไม่ใช่การแทรกแซงการทำหน้าที่

อย่างไรก็ตามได้เขียนความหมายให้ครอบคลุมด้วยว่าการจัดตั้งองค์กรตามกฎหมายต้องไม่มีการไปขอเงินจากรัฐเพิ่มเติม ขณะนี้เงินที่ใช้จ่ายเพื่อดำเนินการที่ได้รับจากส่วนต่างๆ เช่น กองทุน, เงินที่ได้จากรายงานที่สถานทีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสส่งคืนคลัง ได้เขียนรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากขึ้น

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า 4.กรรมการจริยธรรม ได้ปรับในส่วนของการทำหน้าที่ตรวจสอบด้านจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้เป็นหน้าที่ของกรรมการจริยธรรมโดยตรง จากเดิมที่กำหนดให้เป็นอำนาจของกรรมการกำกับโดยภาคประชาชน และ 5.โครงสร้างและที่มาของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้คงจำนวนและที่มาไว้ตามร่างกฎหมายเดิม คือ มีจำนวน 15 คน และระยะเริ่มแรกให้มาจากการสรรหา คือ ที่มาจากวิชาชีพ จำนวน 8 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คนและจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน ทั้งนี้ได้เขียนรายละเอียดว่า ในระยะยาว หรือ 3-4 ปีในส่วนของกรรมการสภาฯ ที่มาจากผู้แทนวิชาชีพนั้นให้ใช้การเลือกตั้งแทนการสรรหา โดยต้องคำนึงสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพในภูมิภาคด้วย