posttoday

ถกถอดถอน248สส.วันแรกเดือดเพื่อไทยโต้แหลก

15 กรกฎาคม 2558

สนช.เปิดพิจารณาสำนวนถอดถอน 248 ส.ส.วันแรก เพื่อไทยปัดแก้ที่มาสว.ขัดรัฐธรรมนูญ

สนช.เปิดพิจารณาสำนวนถอดถอน 248 ส.ส.วันแรก เพื่อไทยปัดแก้ที่มาสว.ขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาดำเนินการถอดถอนอดีต สส. จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

โดยวันนี้ เป็นการแถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนหรือรายงานพร้อมความเห็นป.ป.ช.ของผู้ถูกกล่าวหา ตามข้อบังคับ ข้อ 154 วรรคหนึ่ง

จากนั้น นายวิชัย วิวิตเสวี คณะกรรมการป.ป.ช.ได้แถลงเปิดสำนวนคดีว่า คณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ร่วมกันลงรายมือชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาสว. นำโดยอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตสส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ถือเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 58 และขัดต่อพ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2554

ทั้งนี้ นอกจากผู้ถูกกล่าวหาร่วมลงรายมือชื่อในรัฐธรรมนูญแล้วยังลงมติเห็นชอบในวาระต่างๆด้วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่ลงมตินั้น เป็นคนละฉบับกับที่ได้เสนอให้แก้ไขไป โดยเฉพาะได้มีการแก้ไขหลักการสำคัญในมาตรา 116 วรรคสอง ที่มีผลให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสว.สิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องรอเวลา 2 ปี ดังนั้น การลงมติจึงถือเป็นการลงมติร่างรัฐธรรมนูญคนละฉบับที่ได้เสนอ และร่างดังกล่าวไม่มีสมาชิกลงรายมือชื่อรับรอง ส่งผลให้ญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ส่วนการพิจารณาของป.ป.ช.ได้พิจารณาฐานความผิดออกเป็น 7 กลุ่ม แต่ที่ยื่นมายังสนช.มีทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 239 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของส.ว. รวมทั้งพิจารณาและลงมติในวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3  โดยถือว่าจงใจใช่อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

กลุ่มที่  2 ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 1 คน ได้แก่นายอภิรักษ์  ศิรินาวิน ที่ลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ พิจารณาและลงมติในวาระ 2 และ วาระ 3 ซึ่งป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กลุ่มที่ 3 ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 10 คน ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาและลงมติในวาระที่ 3 โดยถือว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบัญญัติรัฐธรรมนูญ

กลุ่มที่ 4 ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 2 คน คือนายยุรนันท์ ภมรมนตรี และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ที่ร่วมลงมติในวาระ 1  แต่ป.ป.ช.เสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นว่าไม่ให้ส่งสำนวนมายังสนช. และ กลุ่มที่ 5 ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 3 คน ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว ประกอบด้วย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย นายสมพล เกยุราพันธุ์ และนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ซึ่งป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ให้จำหน่ายคดีออก  สำหรับกลุ่มที่ 6 และ กลุ่มที่ 7 อยู่ในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ 1 มีสมาชิก 2 คน ประกอบด้วยนายทองดี มนิสสาร และนายตุ่น จินตะเวช ได้ถึงแก่กรรม จึงไม่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อบังคับ

จากนั้นพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ป.ป.ช. รุนแรงมาก เป็นการประหารชีวิตทางการเมือง จึงขอแถลงคัดค้านคำกล่าวหาตั้งแต่กระบวนการไต่สวนของป.ป.ช. การลงมติของกรรมการป.ป.ช. และความไม่โปร่งใสบางเรื่อง  1.พวกตนเพิ่งเห็นคำร้องที่ผู้ยื่นคำร้องให้ถอดถอนเกือบ 300ชีวิต และไม่เคยเห็นคำร้องป.ป.ช.มาก่อน และคำวินิจฉัยว่าฝ่าฝืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 จากนั้นจึงส่งให้ป.ป.ช.ไต่สวน

ทั้งนี้ เมื่อดูจากคำร้องดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 61 ระบุว่า ผู้ร้องต้องระบุชื่อ ที่อยู่ อาชีพ เลขบัตรประชาชน ต้องลงวันที่ร้องด้วยตัวเอง แต่ผู้ร้องในตามเอกสารไม่ได้เป็นอย่างนั้น รวมทั้งยังมีระเบียบของวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกรณฑ์ ตรวจสอบและพิจารณาให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ก็กำหนดสอดคล้องกับพ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 61 แต่คำร้องผู้ที่ยื่นถอดถอน ไม่ได้ทำตามนี้ จึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย  คนร้องต้องมีหลักแหล่ง ชัดเจน ไม่ใช่เอาคนหลักลอยที่ไหนมาแกล้งร้อง เป็นอีแอบ จึงขอแถลงคัดค้านว่าเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวเคยอ่านรายงานสอบสวน ไต่สวนของป.ป.ช.ที่ได้ยกคำวินิจฉัยป.ป.ช. ที่มีผู้ร้องว่า พวกตนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นกระทำการล้มล้างระบอบการปกครอง โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า พวกตนไม่ไปแก้ข้อกล่าวหา เพราะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพ เลยไม่ได้ไปแก้ข้อกล่าวหา รวมทั้งการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมามาตรา68 ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

ทว่า ทำไมกรณีนี้บอกว่าไม่ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด จึงไม่ไปแก้ข้อกล่าวหา แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้างเดียวที่พวกตนแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา68 เป็นการล้มล้างการปกครองและป.ป.ช.ก็เอาคำวินิจฉัยนั้นมาพิจารณา หลังจากป.ป.ช.มีมติรับไต่สวน เอาร่างไม่ชอบไปไต่สวน

พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ขณะไปให้การต่อนิติกรป.ป.ช.เพื่อแก้ข้อกล่าวหา ประเด็นที่ตั้งข้อกล่าวหา โดยสอบถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไข ตามที่มีผู้ร้อง มีกี่ร่าง และรู้หรือไม่ว่ามีสองร่าง มีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร รู้หรือไม่ โดยได้ชี้แจง ร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงร่างเดียว ร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานวิปรัฐบาล นำเสนอ ก็ได้ลงนามด้วย ต่อมานายอุดมเดช ได้มาชี้แจง หลักการที่เขียนไป

ทั้งนี้ เมื่อส่งไปยังเจ้าหน้าที่ภาฯ ข้อความในบทบัญญัติตกหล่นบ้าง ไม่สอดคล้องกับหลักการ จึงได้นำกลับมาปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อแก้ไขแล้วก็มาบอกพวกตนว่ามีการปรับปรุงร่าง จึงถือว่าเป็น ร่างเดียวไม่ได้มีสองร่าง ที่พูดกันว่าเป็นร่างปลอม ร่างแปลง จริงๆไม่ใช่ พวกตนลงชื่อแล้ว และคนนำเสนอตอนแรก ที่เสนอแก้ไขปรับปรุง ก็รับรู้ รับทราบจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อใหม่

อย่างไรก็ตาม นายอุดมเดชก็มาบอกในที่ประชุมวิป ก็รับรู้กันหมด รวมทั้งการประชุมในรัฐสภา ก็มีระยะเวลาเป็นเดือน ตลอดระยะเวลาไม่มีใครพูดว่ามีสองร่าง ว่าร่างที่พิจารณาไม่ใช่ร่างที่เสนอ ก็ไม่มีใครท้วงติง การไต่สวนของป.ป.ช.เต็มคณะ แต่เวลาสอบมาแค่นี้ ส่วนตัวไม่ติดใจ และเห็นใจป.ป.ช.เพราะคงมีเรื่องค้างอยู่ในป.ป.ช.หลายพันเรื่อง รู้สึกเห็นใจ เพราะในการพิจารณาร่างปี 42 กรรมการป.ป.ช. อยากเป็นเสือตัวจริง อยากทำทุกเรื่อง เอาคนทำผิด ทุจริตคอรัปชั่นเข้าคุกเยอะๆ แต่เคยท้วงติงแล้วว่า จะทำไม่ไหว ซึ่งตัวแทนป.ป.ช.ตอนนั้นบอกว่าทำไหว แต่มาถึงตอนนี้ก็เป็นไปอย่างที่ท้วงติง

“เมื่อดูข้อกล่าวหาที่ว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา291 (1) วรรคหนึ่ง ก็อยู่ในพ.ร.บ.ป.ป.ช. จากคำร้องที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 61 แล้วไปตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 58 จึงไม่น่าดำเนินการได้ แล้วก็มายื่นถอดถอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา270 เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้ว และคำร้องไม่ชอบด้วย จาก2เรื่องนี้ที่นำมาสอบสวน จึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในการสอบสวนบางเรื่อง เช่น การกล่าวหาพวกผมลงมติที่มาสว. แก้ไขมาตรา6  มาตรา116ส่อว่าขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้าง เข้าหลักต้องถอดถอน ซึ่งข้อกล่าวหานี้ไม่ได้รับรู้มาก่อน แล้วป.ป.ช.มาสรุปตอนท้ายจึงไม่เป็นธรรมต่อพวกผม แทนที่จะได้ไปชี้แจงข้อกล่าวหานี้ก็ไม่มี แล้วก็มารวบรวมข้อกล่าวหา รวมทั้งรัฐธรรมนูญก็ให้เอกสิทธิ์สส.ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าสามารถทำได้ แต่เมื่อดูรายงานป.ป.ช.กลับบอกว่าทำไม่ได้”รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว

พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า อยากให้กำลังใจป.ป.ช.ที่กำลังงานหนัก ลงมติเป็นเสือดุ ที่ลงมติผู้คนไปเยอะแยะ คนในบ้านเมืองก็ให้ความเคารพเกรงกลัว อยากให้องค์กรนี้เป็นหลักคู่บ้าน คู่เมือง แต่มีความเป็นห่วง กังวล เคลือบแคลงสงสัยว่ามีบุคคลที่แปลกปลอมไปอยู่ในคณะท่านหรือไม่ เพราะมีการพูดจากันมากตั้งแต่คราวถอนถอนอดีตสว. 38 คน ว่ามีกรรมการป.ป.ช.คนหนึ่งน่าจะขาดคุณสมบัติการเป็นป.ป.ช. เพราะลาออกจากนิติบุคคล บริษัทการค้าแห่งหนึ่งไม่ชัดเจน แล้วถ้าเอาคนภายนอกมาลงมติ ย่อมเป็มติที่ไม่ชอบ มติของป.ป.ช.เมื่อลงโทษคนจะมีผลทั้งทางอาญา วินัย และโทษปรับ ยึดทรัพย์สินค่าเสียหาย

ขณะเดียวกันบุคคลที่ถูกสงสัยว่าขาดคุณสมบัติ ก็ไม่มีองค์กรใดมาชี้แนะว่าได้ขาดคุณสมบัติ เพื่อศักดิ์ศรีองค์กรก็สามารถตรวจสอบกันเองได้ว่าถูกต้องหรือไม่ ที่ได้ลาออกจากนิติบุคคลทางการค้าภายใน15วัน หลังจากมารับตำแหน่งเป็นกรรมการปปช.หรือไม่ ทั้งนี้การลาออกของนิติบุคคลต้องมีใบลา ใบลาในที่นี้ต้องเป็นหนังสือ ไม่ใช่ยื่นด้วยวาจา อันนี้เป็นกฎหมาย แล้วท่านมีหรือไม่ เมื่อไม่มี กรรมการปปช.ก็ควรพูดกันได้ อยากฝากองค์กรนี้จะทำอะไรต้องให้เป็นที่ยอมรับนับถือ โปร่งใส ทำงานด้วยความรอบครอบ

ขณะที่ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตสส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเจตนาที่ดีต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯเป็นรัฐบาล ก็มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้ว 2 ประเด็น คือ ที่มาของสส.กับแก้ไขมาตรา 190 โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลได้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่มีการไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ และได้มีคำแนะนำให้แก้ไขเป็นรายมาตราได้ จึงได้ดำเนินตามคำแนะนำของศาลโดยเสนอแก้ใน 3 ประเด็น คือ ที่มาสว. มาตรา 68 และมาตรา 190 ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาเสร็จในประเด็นที่มาของสว. ก็มีผู้ไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นการเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภา ทั้งที่เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกในการลงมติที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ แต่ที่สุดศาลก็รับไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยออกมาดังกล่าว ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจแต่อย่างใด ถือเป็นการขยายอำนาจของตัวเองอย่างชัดเจน 

“พวกเราไม่มีตำแหน่งไหนให้ถอดถอนแล้ว เพราะได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ป.ป.ช.ได้ชี้มูลขณะนี้เป็นอดีตแล้ว จึงเท่ากับว่า ฐานความผิดดังกล่าวที่จะนำไปสู่การถอดถอนได้ถูกยกเลิกแล้วเช่นเดียวกัน”นายสามารถ กล่าว