posttoday

โพลหนุนนายกฯคนนอกแก้วิกฤต

02 กรกฎาคม 2558

กมธ.ยกร่างฯเผยสำรวจประชาชน หนุนมีนายกฯคนนอกแก้วิกฤต

กมธ.ยกร่างฯเผยสำรวจประชาชน หนุนมีนายกฯคนนอกแก้วิกฤต

นางถวิลวดี บุรีกุล ฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่สอง  ช่วงเดือนมิ.ย. 2558  โดยความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้า โดยมีประชาชนจำนวน 77,160  รายร่วมให้ความเห็น มีข้อสรุปของการแสดงความเห็นดังต่อไปนี้

1.เรื่องความเป็นพลเมือง สิทธิ และหน้าที่ของพลเมือง  อาทิ พลเมืองต้องไม่กระทำที่ทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติหรือศาสนา เห็นด้วย 97.8 % สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพและรับผิดชอบต่อสังคม เห็นด้วย 96.7%การเสียภาษีโดยสุจริต เห็นด้วย 96.9% บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีเสรีภาพที่จะกระทำการใด เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เห็นด้วย 95.7 % ให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งย้อนหลัง 3 ปี เห็นด้วย91.2  % กำหนดให้ตรวจสอบคุณสมบัติของคู่สมรสและบุตรของผู้สมัครรับเลือกตั้งย้อนหลัง เห็นด้วย84.6 %

2.ประเด็นระบบผู้แทนและผู้นำการเมืองที่ดี แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.)  มีความเห็นประชาชนเกิน90 %  เห็นด้วยกับประเด็นที่บัญญัติใหม่ ดังนี้ ให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการด้วยระบบคุณธรรม, ให้ส.ส.พ้นจากตำแหน่งเมื่อไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี, ในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้ประชาชนเลือกพรรคที่ชอบได้หนึ่งพรรคและสามารถเลือกผู้สมัครในพรรคอื่นที่ชื่นชอบได้ด้วย, สว.มีอำนาจร่วมกับสส.ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การคิดคะแนนผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส. ให้คำนวณจากคะแนนนิยมของพรรคที่ประชาชนเลือกเป็นหลัก

ขณะที่ประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยเกิน80  %มีดังต่อไปนี้ การเลือกตั้งสส.เขตให้เลือกได้เขตละ 1 คน, สส.มีอิสระจากมติพรรคการเมือง, สว.มีจำนวนไม่เกิน 200 คน, วุฒิสภามีสิทธิเสนอกฎหมายได้, ในกรณีบ้านเมืองเกิดวิกฤต ส.ส.สามารถลงมติเลือกบุคคลที่ไม่เป็นส.ส.เป็นนายกฯ ได้โดยใช้คะแนนเสียง  2 ใน 3 และให้จัดระบบหยั่งเสียงความนิยมของบุคคลก่อนส่งลงสมัครสส.

ขณะที่ประเด็นคำถามที่ให้สส.เป็นผู้เลือกนายกฯ ประชาชนเห็นด้วย77 % และ ประเด็นสว.มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ  1 คนประชาชนเห็นด้วย 77.1 %
               
3.ประเด็นนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีความเห็นประชาชนที่เห็นด้วยเกิน 90  % ดังนี้ กำหนดกรอบเวลาพิจารณาคดีของศาลให้ชัดเจน, ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการในองค์กรตรวจสอบต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยต่อสาธารณะ, ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนกรรมการในองค์กรตรวจสอบได้, ห้ามข้าราชการอัยการดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ หรือบริษัทเอกชน,

4.ประเด็นการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีความเห็นประชาชนที่เห็นด้วยเกิน90 %  อาทิ การจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีแก่ประชาชน, ควรจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เสริมสร้างและทำงานทุกภาคส่วนให้เกิดความสมนฉันท์และปรองดอง , ควรมีมาตรการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และเห็นด้วยกับการจัดตั้งระบบบำนาญสำหรับทุกคน

นอกจากนั้นในความเห็นของประชาชนต่อแนวทางการแก้ไขความขัดแย้ง พบว่าส่วนใหญ่ 17.3 % เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลผสม รองลงมาคือให้ทหารปฏิวัติหรือรัฐประหารอีก 11 % ขณะที่การใช้กลไกนิติบัญญัติ อาทิ ยุบสภาแล้วแล้วตั้งใหม่ ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้เด็ดขาด มีผู้เห็นด้วย 10.3  % และ 9.8 % ตามลำดับ

ส่วนแนวทางป้องกันความขัดแย้งหรือความรุนแรง ประชาชนส่วนใหญ่ 12.5 % เห็นว่าความปลูกจิตสำนึก สามัคคีปรองดอง และรณรงค์ลดความรุนแรง นอกจากนั้นยังมีคำถามต่อประเด็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการประท้วงทางการเมือง ช่วง ปี 2548 – 2557 ที่ทำผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.มั่นคง ประชาชน 52.9  % เห็นด้วย และ 43.9 % ไม่เห็นด้วย