posttoday

สนช.นัดแถลงเปิดสำนวนถอด248สส.กลาง15-16ก.ค.

26 มิถุนายน 2558

สนช.ไม่อนุญาต38สส.เพิ่มพยานหลักฐาน นัดเปิดแถลงสำนวน 15-16 ก.ค.และให้ส่งข้อซักถามไม่เกิน20ก.ค.

สนช.ไม่อนุญาต38สส.เพิ่มพยานหลักฐาน นัดเปิดแถลงสำนวน 15-16 ก.ค.และให้ส่งข้อซักถามไม่เกิน20ก.ค.

วันที่ 26 มิ.ย. ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอน สส. จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) ประกอบ มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ตามข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ. 2557  ข้อ 149 เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และ สส. จำนวน 248 คน ผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้จำแนกผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1. สส. จำนวน 239 คน ประกอบด้วยฐานความผิด ได้แก่ 1. ลงลายมือชื่อเกี่ยวกับการแก้ไขที่มาของ สว.  2. ลงมติวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ 3. ลงมติวาระที่ 2 ชั้นพิจารณารายมาตรา โดยเฉพาะร่างมาตรา 6 ที่มีเนื้อหาแก้ไขมาตรา 116 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส่งผลให้ สว. ที่สิ้นสมาชิกภาพไปแล้ว สามารถกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. ได้อีก โดยไม่ต้องพ้นระยะเวลา 2 ปี  และ 4. ลงมติวาระที่ 3 เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา สว. ฉะนั้นผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 291 อนุ 1 วรรค 1 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 

ส่วนกลุ่มที่ 2 จำนวน 1 คน ประกอบด้วยฐานความผิด คือ 1. ร่วมลงลายมือชื่อเกี่ยวกับการแก้ไขที่มาของ สว. 2. ลงมติวาระที่ 2  และ 3. ลงมติวาระที่ 3  ฉะนั้น มติมูลความผิด ฉะนั้นผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 291 อนุ 1 วรรค 1 ส่วนกลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยฐานความผิด คือ 1. ร่วมลงลายมือชื่อเกี่ยวกับการแก้ไขที่มาของ สว และลงมติวาระที่ 3 เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา สว. ฉะนั้นผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 291 อนุ 1 วรรค 1 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542  อย่างไรก็ตามผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 2 คน คือ นายทองดี มณิตศาล และนายตุ่น จินตะเวช เสียชีวิตแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการทั้ง 2 คนอีกต่อไป ฉะนั้นจึงคงเหลือผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 248 คน 

ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน จำนวน 6 คำขอ จำแนกเป็น 7 รายการ ประกอบด้วย 1. ถ้อยคำอภิปรายของนายสรุชัย ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) วันที่ 18 มิ.ย. พ.ศ. 2550  2. บทความของ เรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 291 กับศาลรัฐธรรมนูญ โดย น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล 3. บทความเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ 4.คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 74/2557 ลงวันที่ 6 ส.ค.  พ.ศ. 2557 5. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 53-58 /2557 ลงวันที่ 6 ส.ค. พ.ศ. 2557 6.บันทึกการประชุมของ สนช. ครั้งที่ 16/2558 ลงวันที่ 12 มี.ค. พ.ศ. 2558 กรณีลงมติถอดถอน สว. จำนวน 38 คน และ 7. รายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ประจำรัฐสภา ในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 – มาตรา 114

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต สส. เพื่อไทย หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา กล่าวว่า คำขอที่ 1 ประกอบด้วยยานหลักฐานที่เป็นเอกสาร จำนวน 6 รายการ สามารถจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เอกสาร 3 รายการแรก เป็นพยานหลักฐานเดิมที่เคยยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับพิจารณา โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับอำนาจตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 วรรค 2 ที่กำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องจะต้องยื่นร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ก่อนจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ร้องกลับยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงขณะที่ อสส. ยังไม่ได้พิจารณาจนสิ้นสุดกระบวนการ ฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงรับเรื่องไม่ถูกวิธี ซึ่งมีผลให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกพันกับองค์กรอื่นของรัฐ

นอกจากนั้นยังไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยความชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกด้วย ส่วน กลุ่มที่ 2 เอกสาร 3 รายการหลัง เป็นหลักฐานใหม่หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล โดยเฉพาะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 74/2557  และ 53-58/2557 ลงวันที่ 6 ส.ค. พ.ศ. 2557  ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. พ.ศ. 2557 ไปแล้ว พร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ฉะนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรจะหน่ายคดีด้วยเช่นกัน ขณะที่การพิจารณาถอดถอน สว. 38 คน สนช. ได้มีมติไม่ถอนถอน สว. 38 คน แล้ว จึงควรใช้การพิจารณาดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาครั้งนี้ด้วย

นายวิทยา บูรณะศิริ อดีต สส. เพื่อไทย กล่าวว่า คำขอที่ 2 - คำขอที่ 6 ได้ขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานเป็นเอกสารรายงานของ กมธ. ประจำรัฐสภาในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 – มาตรา 114 เช่นเดียวกัน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหลักฐานดังกล่าวของผู้กล่าวหา แต่ไม่ยอมรับหลักฐานจากผู้ถูกกล่าวหา จึงอยากให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเป็นธรรมด้วย

นายวิชัย วิวิตเสรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้กล่าวหา กล่าวว่า ป.ป.ช. ขอคัดค้านทุกคำขอของผู้ถูกกล่าวหา เพราะ 3 รายการแรกมีอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.อยู่แล้ว ส่วนรายการที่ 4 และ 5 ไม่มีอยู่ในสำนวนจริง แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี เพราะสำนวนนี้เป็นอำนาจของ สนช. ว่าพิจารณาจะถอดถอนหรือไม่ เมื่อ สนช. รับเรื่องแล้วถือเป็นข้อยุติ ขณะที่รายการที่ 6เป็นบันทึกการประชุมของ สนช. ที่มีมติไม่ถอดถอน สว. 38 คน นั้น เป็นการพิจารณาคนละกระบวนการไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาสำนวนคดีนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สนช. มีมติไม่อนุญาตให้เพิ่มพยานหลักฐาน ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ และกำหนดให้แถลงเปิดสำนวนคดีของทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 15 - 16 ก.ค. นี้ เวลา 10.00 น. โดยสมาชิก สนช. สามารถยื่นญัตติประเด็นซักถามทั้งสองฝ่ายต่อประธาน สนช. ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 ก.ค. 58 เวลา 12.00 น.