posttoday

บวรศักดิ์ย้ำรัฐธรรมนูญใหม่เพิ่มอำนาจให้พลเมือง

06 มิถุนายน 2558

"บวรศักดิ์"ย้ำเจตนารมณ์รธน.ใหม่เพิ่มอำนาจพลเมืองแท้จริง ชี้สร้างให้ปชช.พึ่งตัวเองได้

"บวรศักดิ์"ย้ำเจตนารมณ์รธน.ใหม่เพิ่มอำนาจพลเมืองแท้จริง ชี้สร้างให้ปชช.พึ่งตัวเองได้

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อรัฐธรรมนูญในงานสัมมนาเรื่อง “การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายจากทั้งหมด 4 เวที 4 ภูมิภาค ที่กมธ.ยกร่างฯจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่ยกร่างแล้วเสร็จ ควบคู่ไปกับการรับฟังเสียงสะท้องและข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน เพื่อนำมาประมวลประกอบการพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มมีความขัดแย้งตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 เนื่องจากรัฐบาลต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน เกิดการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้าน บุกสถานที่ราชการสำคัญของประเทศ จนนำไปสู่การเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งหากยังปล่อยให้ความขัดแย้งเหล่านี้ไปอยู่ต่อไปประเทศไทยจะถอยหลังทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก

ทั้งนี้ สาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากผู้นำทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและฝ่ายตรงข้าม และชักจูงราษฎรเข้าร่วมกับฝ่ายต่างๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีเจตนารมณ์เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้ง สร้างพรรคการเมืองที่ใสสะอาด สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจทำให้คนไทยพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ทำให้การเลือกตั้งเกิดความโปร่งใสได้

ขณะเดียวกันในวันนี้ (6มิ.ย.) เป็นการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกมานำเสนอให้ประชาชนรับทราบ และจะนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างสุดท้าย ร่วมกับความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เสนอให้ทบทวนในบางมาตรา อาทิ ในส่วนของกลุ่มการเมืองที่เสนอให้ตัดทิ้ง และหากมีการปรับแก้ไขจะต้องทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น ทั้งนี้กมธ.ยกร่างฯจะต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.

"ถ้าต้องการให้พลเมืองเป็นพลเมือง ก็ต้องให้พลเมืองมีกินมีใช้ ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลือมล้ำ ไม่ต้องไปหาสส. สว. สจ. เพราะถ้าพึ่งตัวเองได้ก็ไม่ต้องรอนโยบายประชานิยม รัฐธรรมนูญนี้เขียนขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ให้พลเมืองเป็นใหญ่ ถ้ายังทะเลาะกันอยู่ชาติไม่สันติสุข รัฐบาลก็ไม่ต้องทำอะไร การสร้างความปลองดองต้องทำโดยด่วน" นายบวรศักดิ์ กล่าว

ส่วนการแก้ความไม่ใสสะอาดในอดีต ต้องสร้างความสมดุลในระบบเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ การร่างรัฐธรรมนูฐฉบับนี้ เน้น 2 ข้อ คือ 1.ต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2.หนุนสังคมให้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นการแก้การซื้อเสียงจะเอาระบบเลือกตั้งไปแก้ก็ทำไม่ได้ ต้องแก้โดยสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ และหนุนสังคมให้เป็นธรรมเท่านั้น ในหมวดหนุนสังคมให้เป็นธรรมจะเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยที่จะแก้การซื้อเสียงอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม พลเมืองจะเกิดขึ้นได้คือคนไทยทั้งหมดมีสำนึกพลเมือง มีความรับผิดชอบ เคารพรัฐธรรมนูญ เคารพกฎหมาย รู้สิทธิตัวเองและผู้อื่น ส่วนพฤติกรรมพลเมืองถ้ามีกิจกรรมอะไร พลเมืองก็ไปช่วยกันทำ ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องพึ่งใคร เป็นอิสระก็จะไม่มีการขายเสียง ถ้าไม่มีจิตสาธารณะไม่มีการแก้การซื้อเสียงได้ ซึ่งส่วนก็อยากให้สื่อมวชนให้ความสำคัญกับพลเมืองครั้งนี้ด้วย

จากนั้นเป็นการเสวนา หัวข้อ "มีอะไรในร่างรัฐธรรมนูญ" โดยนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างฯ คนที่2 กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินจริงๆ จะมีเสรีภาพมากกว่าเดิม มีส่วนร่วมในทางการเมืองและการตรวจสอบ ถ้าหากรัฐธรรมนูฐนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประชาชนแล้ว ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินจริงๆ ซึ่งคนที่มาใช้เสรีภาพต้องทำตัวให้เหมาะกับความเป็นพลเมือง คำนี้ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นๆ พลเมืองต้องพึ่งตนเอง ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ ใช้สิทธิ์ตามความเหมาะสม
ขณะที่ น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการเปลี่ยนประเทศอย่างเต็มที่ เเนวทางพลเมืองเป็นใหญ่ จะให้บทบาทชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นทุกๆเรื่อง ถ้าชุมชนเข้มแข็ง พลเมืองก็จะแข็มแข็ง ในร่างรัฐธรรมนูญจะให้เกิดการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น พลเมืองก็จะมีอำนาจในการร่วมคิดและร่วมทำ รวมถึงเรื่องสมัชชาพลเมืองจะมีการเชื่อมโยงโดยมีเวทีของภาคพลเมือง และสร้างโอกาสในการพัฒนา เชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพราะตอนนี้พลเมืองตื่นหมดแล้วที่จะร่วมคิดร่วมทำได้ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกไปประเทศของเราเปลี่ยนแน่นอน

ด้านนายเจษฎ์ โทณวณิก กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเขียนชัดเจนว่านิติธรรมคืออะไร 1.กฎหมายต้องเป็นสิ่งสูงสุด 2.สิทธิความเสมอภาคของพลเมืองต้องได้รับความคุ้มครอง 3.มีนิติกระบวน ในหลักกฎหมายต้องไม่มีการย้อนหลังไปเอาผิดอาญากับใคร หรือการพิพากษาต้องเป็นไปโดยชอล และ4.กระบวนการพิจารณาของศาลต้องมีความเป็นธรรมประชาชนสามารถพึ่งได้