posttoday

"วัฒนา"ชี้การสืบทอดอำนาจเผด็จการยังคงอยู่

27 พฤษภาคม 2558

วัฒนาชี้ครม.เสนอแก้รธน.แค่เปลือกนอกใส้ในการสืบทอดอำนาจเผด็จการยังอยู่

วัฒนาชี้ครม.เสนอแก้รธน.แค่เปลือกนอกใส้ในการสืบทอดอำนาจเผด็จการยังอยู่

นายวัฒนา เมืองสุข  อดีตสส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และอดีตรมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม. เฉพาะประเด็นสำคัญที่เสนอให้ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเสนอกฎหมายและตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี ตัดอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 181-182 ตัดองค์กรใหม่บางองค์กรออก แยกผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกจากกันไม่เอาสององค์กรมาควบรวม ตัดกลุ่มการเมืองและไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมแต่ควรกลับไปใช้แบบเดิมตาม รธน 50 ให้ กกต กลับไปจัดการเลือกตั้งตามเดิมโดยยกเลิก กจต จึงมีความเห็น ดังนี้

1. คสช.และครม. เลือกเสนอแก้ไขบางประเด็นเพื่อเอาใจพรรคการเมืองบางพรรคและองค์กรอิสระเช่น กกต. กสม. เพื่อโดดเดี่ยวพรรคเพื่อไทย

2. กองทัพมองข้ามไปจนถึงการทำประชามติว่าจะมีขึ้นและจะชนะเพราะมีทั้งองค์กรอิสระเช่น กกต. กสม. และพรรคการเมืองอื่นเป็นพวก ซึ่งก็เชื่อว่าภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดแบบนี้พวกเค้าจะชนะในการทำประชามติอย่างแน่นอน

3. ครม. เสนอให้ตัดองค์กรใหม่ที่ตั้งขึ้นหลายองค์กรแต่ไม่แตะต้องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศซึ่งเป็นกลไกการสืบทอดอำนาจ ในขณะพรรคการเมืองส่วนใหญ่สนใจเพียงรูปแบบการเลือกตั้ง ไม่สนใจประเด็นการสืบทอดอำนาจหรือการปฏิเสธอำนาจประชาชน เพราะอย่างไรก็แพ้พรรคเพื่อไทยและไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว วิธีแบบนี้กลับจะทำให้กองทัพต้องใช้บริการพรรคเหล่านั้นอันจะทำให้พวกเค้ากลับมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

4. ประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศและเป็นปัญหาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากประชาชน คือการควบคุมฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติผ่านศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง การสืบทอดอำนาจเผด็จการผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่เป็นปัญหากับพรรคการเมืองที่เน้นเพียงให้ชนะการเลือกตั้ง

5. พรรคเพื่อไทยคงต้องผลักดันให้มีการแก้ไขในประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ เพราะสิ่งเหล่านี้คืออำนาจของประชาชน อันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องเคารพการตัดสินใจของเจ้าของอำนาจ และไม่สืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป แต่คงต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเพราะพรรคการเมืองอื่นล้วนได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว คงเหลือเพียงการต่อสู้เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนและขจัดการสืบทอดอำนาจซึ่งคงไม่มีใครเอาด้วย

6. บทสรุปของเรื่องนี้คือคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่พูดตรงกันในหลักการว่า "ทำอย่างไรกับสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ทำไปบ้างแล้ว สานต่อไปได้จนถึงรัฐบาลหน้า" แปลเป็นไทยง่ายๆ คือต้องทำทุกทางให้รัฐบาลหน้าต้องนำสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ทำไว้ไปสานต่อไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม นั่นคือคำตอบว่าทำไม ครม ไม่เสนอขอให้มีการตัดองค์กรที่เรียกว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปเพราะมันคือองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไปนั่นแหละครับ พี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยยอมได้หรือ สำหรับผมและพรรคเพื่อไทยขอต่อสู้เพื่อคืนอำนาจนี้ให้กับประชาชนต่อไปอย่างถึงที่สุด