posttoday

กมธ.ยกร่างฯไม่เห็นด้วยลดมาตราหมวดปฏิรูป

24 พฤษภาคม 2558

รองประธานกมธ.ยกร่างฯ ไม่เห็นด้วยลดมาตราในหมวดปฏิรูป ชี้จะสะท้อนความไม่จริงใจในการปฏิรูปขาดหลักประกันไม่ให้ถูกบิดเบือน

รองประธานกมธ.ยกร่างฯ ไม่เห็นด้วยลดมาตราในหมวดปฏิรูป ชี้จะสะท้อนความไม่จริงใจในการปฏิรูปขาดหลักประกันไม่ให้ถูกบิดเบือน

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายชูชัย  ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อเสนอให้ลดหมวดการปฏิรูปและการปรองดองในร่างรัฐธรรมนูญเหลือ 2 มาตรานั้น หมวดปฏิรูปและการปรองดองถือว่าเป็นหมวดที่มีความสำคัญที่สุด  จนมีการเรียกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปและสร้างความปรองดอง  และตนในฐานะประธานอนุกรรมาธิการรวบรวมประเด็นด้านปฏิรูปมองว่าเรื่องการปฏิรูปถือเป็นหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ  ที่อนุ กมธ. ฯ ทำงานร่วมกับกรรมาธิการปฏิรูปของ สปช. ทั้ง 18 ด้าน มา 5 เดือนเต็มเพื่อรวบรวมประเด็นเข้ามา และตกผลึกจนให้เขียนการปฏิรูปแต่ละเรื่องไม่เกิน 3 มาตรา  สกัดมาเป็นหัวใจของแต่ละเรื่องแล้ว

นายชูชัยกล่าวว่ามีความแตกต่างหากนำเรื่องการปฏิรูปไปบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทนการบัญญัติในรัฐธรรมนูญคือ  1.  ผู้บัญญัติจะเปลี่ยนจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับ สปช. ซึ่งเป็นผู้ทำประเด็นการปฏิรูปแต่ต้น  ไปเป็นหน้าที่ของ สนช. ซึ่งไม่ได้ทำเรื่องปฏิรูปมาแต่ต้น  2. หากอยู่ในรัฐธรรมนูญจะเป็นหลักประกันที่จะถูกแก้ไขได้ยากกว่าการเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ  3.  แม้หากจะมีการทำกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้านก่อนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ  ก็ยังต้องบัญญัติเป็นหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญ  เพราะจะเป็นหลักประกันว่ากฎหมายประกอบไม่ถูกแก้ไขเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ในภายหลัง  4.หากหมวดการปฏิรูปมีเพียง 2 มาตรา  เวลาไปทำประชามติ  ก็ยากที่ประชาชนจะมั่นใจว่าข้อเรียกร้องการปฏิรูปของประชาชนจะถูกนำไปปฏิบัติจริง  เพราะ กมธ. ยกร่างฯ เองก็ไม่ได้เป็นคนออกกฎหมายลูกในส่วนของการปฏิรูปนี้

"จุดต่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ต่างจากประเทศอื่น ๆ คือเรามีเรื่องการปฏิรูป  เพราะบ้านเมืองเรากำลังต้องการการปฏิรูป ซึ่งหากไปลดบทบัญญัติหมวดปฏิรูปลงตามกระแสข่าว  เราจะถูกถามเรื่องความจริงใจว่าต้องการการปฏิรูปจริงหรือไม่  เราจะไปตอบพลเมืองที่ตื่นรู้หลายล้านคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองไม่ได้"นายชูชัยกล่าว

ด้าน นายมานิต  สุขสมจิต  รองประธาน กมธ.ยกร่าง ฯ กล่าวว่า  ช่วงที่ สปช. เริ่มทำงาน  ทาง คสช. ได้มอบเอกสารมาปึกใหญ่หนึ่ง  เป็นการรวบรวมประเด็นข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปมาจากที่ต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางการปฏิรูปในรอบสิบปี  ทั้งจากคณะของนายประเวศ  วะสี, นายอานันท์  ปันยารชุน, นายคณิต ณ นคร มาให้ สปช. ไปอ่าน  เพื่อหาแนวทางการปฏิรูป  ถ้าไม่คิดว่าจะให้มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วจะให้ทำอย่างนั้นทำไม

นอกจากนี้ยังมีการบัญญัติในคำปรารภรัฐธรรมชั่วคราว ปี 2557 ตอนหนึ่งว่า “ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วางกติกาการเมืองให้รัดกุมเหมาะสม  จำเป็นต้องใช้เวลาสร้างบรรยากาศให้มีการปฏิรูปนำความสุขที่สูญหายไปนานกลับคืนให้ประชาชน”  เป็นคำปรารภที่ให้ทำให้เกิดการปฏิรูปให้ได้