posttoday

ศรีสุวรรณจี้กมธ.ยกร่างฯสปช.ถอนตัวสมัครคปก.

14 พฤษภาคม 2558

ศรีสุวรรณ จี้ กมธ.ยกร่างสปช. ถอนใบสมัครฯ​ ขู่ฟ้องศาลปกครองหากได้รับเลือก บุญเลิศ ยันไม่ถอน แบ่งเวลาทำงานได้

ศรีสุวรรณ จี้ กมธ.ยกร่างสปช. ถอนใบสมัครฯ​ ขู่ฟ้องศาลปกครองหากได้รับเลือก บุญเลิศ ยันไม่ถอน แบ่งเวลาทำงานได้

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านโลกร้อน ในฐานะผู้สมัคร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เต็มเวลา  กล่าวว่า ในส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานยกร่างฯ ได้ถอนการสมัครคปก. ไปแล้วถือว่าไม่มีความผิด  แต่คนที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ ที่เหลืออยู่ได้แก่  นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ น.ส. สุภัทรา นาคะผิว  และ สปช. ได้แก่ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์  นายบุญเลิศ   คชายุทธเดช และ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์  หากยังสมัครอยู่และสุดท้ายแล้วได้รับการสรรหาเป็น คปก. ตนเองจะไปร้องต่อศาลปกครองว่าการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ทั้ง 12 คนที่ประกอบด้วยตัวแทนจากข้าชการ 4 คน นักวิชาการ 4 คน และ เอกชน 4 คน ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้  เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯ และ สปช. ที่เป็นผู้สมัครคปก. นั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างเช่น กมธ.ยกร่างฯนั้นมีส่วนโดยตรงที่เขียนร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 282 (3) ที่ให้อำนาจคปก. และตัวเองก็มีเจตนาไปดำรงตำแหน่ง  ขณะที่ สปช. นั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้เสนอแปรญัตติในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 36 วรรค 2 และ ต้องมีส่วนในการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ   ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 37 วรรค 2  อีกทั้งยังผิดตามประมวลจริยธรรม อีกด้วย 

“หากไม่อยากมีเรื่องเสื่อมเสียก็ให้เดินตามแนวทางเดียวกับนายบวรศักดิ์  เนื่องจากการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ คปก.เป็นการแสดงเจตนาที่ชัดแจ้งว่าต้องการสืบทอดอำนาจ  รวมทั้ง อีกหลายมาตราในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างเช่น  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศในมาตรา 279 อีกด้วยที่เป็นการสืบอำนาจชัดเจนโดยใช้การปฏิรูปประเทศและประชาชนบังหน้า” ผู้สมัครเข้ารับสรรหาเป็นคปก.เต็มเวลาระบุ

ด้าน นายบุญเลิศ  คชายุทธเดช สปช. ในฐานะผู้สมัคร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)ไม่เต็มเวลา กล่าวยืนยันว่า ยังไม่ถอนจากการสมัครคปก.  และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในมาตรา 282 (3) ที่ให้อำนาจแก่ คปก.ในการเสนอหรือยกเลิกกฎหมายต่อคณะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ   โดยเฉพาะหน้าที่ของสปช.ที่มาเกี่ยวข้องกับการเสนอคำแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสปช.เป็นองค์หนึ่งเท่านั้นที่แสดงความเห็น ควบคู่กับ ครม. คสช. รวมทั้งความเห็นของพรรคการเมืองและพี่น้องประชาชน และสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯจะปฏิบัติตามหรือไม่   หรือการลงมติรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค. สปช. ก็ลงมติในภาพรวมทั้งฉบับไม่ได้ลงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในมาตรา 282 (3)เพียงมาตราเดียว  

อย่างไรก็ตาม  หน้าที่การทำงานของ สปช.ที่เกรงว่าจะไปทับซ้อนกับ คปก. หากได้รับเลือก นั้น ส่วนตัวสมัครแบบไม่เต็มเวลา และสามารถจัดสรรเวลาไปทำงานได้   โดยจะนำความรู้และประสบการณ์ของการเป็นสปช. ไปทำงานในคปก.ให้ดีขึ้นส่วนจะได้รับการเลือกหรือไม่​ไม่ติดใจ และขอให้ติดตามการสรรหาคปก.ครั้งนี้ให้ดีเพราะมีทั้งนักหน้าใหม่และหน้าเก่าเข้าไปสมัครกันมาก  ดังนั้นหากหน้าตาของคปก.ชุดใหม่ออกมาไม่ดีหรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และมีสิ่งที่เคลือบแคลงสงสัยว่าเขามาเป็นได้อย่างไร ผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบคือคณะกรรมการสรรหาจำนวน 12  คน พร้อมผู้ได้รับเลือกเป็น คปก. 11 คน ทั้งแบบเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา