posttoday

"วัฒนา"ฉะ"บวรศักดิ์"หมกเม็ดเพิ่มอำนาจคปก.

13 พฤษภาคม 2558

"วัฒนา"แฉ"บวรศักดิ์"ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจคปก.เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง และพรรคพวก

"วัฒนา"แฉ"บวรศักดิ์"ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจคปก.เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง และพรรคพวก

นายวัฒนา เมืองสุข  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตสส.พรรคเพื่อไทย เผยแพร่บทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยมีเนื้อหาดังนี้

ในที่สุดก็จับได้

ผมได้เขียนบทความหลายฉบับวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "มหาปราชญ์" ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ประเด็นที่ผมวิจารณ์หนักที่สุดคือการจัดตั้งองค์กรและคณะบุคคลในนาม "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ" เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการและมีอำนาจเหนือตัวแทนที่มาจากประชาชนต่อไปอีกอย่างน้อย ๕ ปี นอกจากนี้ผมยังตั้งคำถามไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ตรงประเด็น บัดนี้ผมหาคำตอบพบแล้วโดยอาศัยทฤษฎีทางด้านการสืบสวนสอบสวนที่กล่าวไว้ว่า "อาชญากรย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ" หรือ "Criminal will always leave a trace" ดังนี้ครับ

๑.องค์กรที่ผมเห็นว่าเป็นมหันตภัยที่สุดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๙ เพราะเป็นการใช้เล่ห์เพทุบายจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาโดยอาศัยข้ออ้างการปฏิรูปประเทศบังหน้า แต่ออกแบบให้องค์กรนี้มีอำนาจมากมายจนเกินการปฏิรูปขนาดสั่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมดรวมถึงบังคับให้ ครม ต้องจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการจนพอใจได้อีกด้วย เขียนเอาใจกันได้ขนาดนี้หากไม่เรียกว่ากล้าหาญถึงขนาดก็ต้องเรียกว่าอีกอย่างครับ

๒.นอกจากองค์กรดังกล่าวจะมีอำนาจล้นฟ้าตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว คณะกรรมาธิการยกร่างหรือท่านมหาปราชญ์ทั้งหลายยังคงไม่หนำใจกลัวประชาชนจะเงยหน้าได้ จึงได้ประเคนอำนาจเพิ่มให้องค์กรนี้โดยให้มีอำนาจออกกฎหมายผ่านวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาด้วยกัน ส่วนองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นแขนขาในการเสนอกฎหมายให้กับเผด็จการคือ "คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย" หรือ คปก. ซึ่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ภายหลังได้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายโดยเสนอแนะต่อ ครม และรัฐสภา ประกอบด้วยคณะกรรมการ ๑๑ คน ดำรงตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปีและสามารถได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกแต่ไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน

๓.ที่ผมบอกว่า คปก. ทำหน้าที่เป็นแขนขาให้กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากมีมือดีแอบยัดใส้เพิ่มอำนาจให้กับคปก.เกินกว่าอำนาจเดิมที่มีอยู่ที่ให้อำนาจเพียงเสนอแนะการปฏิรูปกฎหมายต่อ ครม และเสนอข้อสังเกตต่อ ครม และรัฐสภาเท่านั้น แต่ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับสารพัดฉายาบรรดานี้ ท่านมหาปราชญ์ทั้งหลายได้แอบสถาปนาอำนาจเพิ่มให้กับ คปก. ตามมาตรา ๒๘๒ (๓) โดยให้มีอำนาจ "เสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฏ แล้วแต่กรณี ที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระหรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น" ดูอำนาจหน้าที่แล้วเหมือนจะดีแต่คำถามของผมคือและใครเป็นคนพิจารณาว่ากฎหมายหรือกฏใดที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน หรือสร้างภาระหรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น เพราะท่านไม่ได้สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของ คปก. ไว้เลย ก็เท่ากับให้ คปก. พิจารณาใช้อำนาจตามอำเภอใจเป็นอินจันแฝดสยามร่วมกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบกดหัวประชาชนไม่ต้องเห็นเดือนเห็นตะวันต่อไปอีก ๕ ปี มันไม่มากไปเหรอครับ

๔. คณะกรรมการ คปก. ชุดแรกที่มีอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธานเริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ จะครบกำหนด ๔ ปีที่ต้องสรรหาใหม่ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เปิดรับสมัครกรรมการชุดใหม่ระหว่างวันที่ ๑๐ มีนาคม - ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา มีผู้สมัครทั้งสิ้น ๘๕ คน แบ่งเป็นกรรมการประเภทเต็มเวลา ๔๐ คน ประเภทไม่เต็มเวลา ๔๕ คน รายชื่อผู้สมัครส่วนใหญ่หลายท่านคงคุ้นๆ แต่ที่ผมคุ้นเป็นพิเศษคือผู้สมัครประเภทเต็มเวลาลำดับที่ ๒๓ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ (สปช.)  และลำดับที่ ๒๖ ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (ประธานกรรมาธิการยกร่าง) และผู้สมัครประเภทไม่เต็มเวลาลำดับที่ ๑๒ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ (เลขานุการคณะกรรมธิการยกร่างฯ) เพราะทั้งสองท่าน(ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ และนางกาญารัตน์) เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

๕. สมัยเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ทุกท่านสอนและอบรมผมในเรื่องจริยธรรมของนักกฎหมายที่จะต้องไม่กระทำการในลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ conflict of interest ต่อมาเป็นนักการเมืองก็ยังมีประมวลจริยธรรมของนักการเมืองกำกับในเรื่องนี้อีก แม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสารพัดฉายาก็ยังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๘ ว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม โดยอย่างน้อยต้องไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ไม่กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฏซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดา มารดา มีส่วนได้เสียอยู่" อาจารย์ท่านที่สอนหนังสือผมสมัยเรียนกฎหมายที่จุฬากับท่านประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และท่านผู้สมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมายประเภทเต็มเวลาลำดับที่ ๒๖ บังเอิญเป็นท่านเดียวกันครับ ผมเลยเพิ่งเข้าใจคำตอบของท่านที่ว่า "อยากเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อนอย่างน้อย ๕ ปี แล้วค่อยแก้ไข ถ้าบ้านเมืองเกิดความปรองดองก็อาจกลับมาแก้ไขให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง" แล้วพี่น้องประชาชนเข้าใจเหมือนที่ผมเข้าใจหรือเปล่าครับ

หมายเหตุ ภาพด้านล่างแสดงรายชื่อผู้สมัครปฎิรูปกฏหมาย

"วัฒนา"ฉะ"บวรศักดิ์"หมกเม็ดเพิ่มอำนาจคปก.

 

"วัฒนา"ฉะ"บวรศักดิ์"หมกเม็ดเพิ่มอำนาจคปก.