posttoday

สนช.เห็นชอบหลักการร่างพรบ.ตั้งกระทรวงดิจิทัล

07 พฤษภาคม 2558

สนช.เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ. ตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับนโยบายรัฐบาล

สนช.เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ. ตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับนโยบายรัฐบาล

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ เอกฉันท์  158 คน เห็นชอบหลักการ  ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแทนที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 17 คน โดยมีระยะการดำเนินงานภายใน 30 วัน 

นายพรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที กล่าวถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัล มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ สังคม ฐานความรู้ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่กระทรวงไอซีทียังคงมีข้อจำกัดในขอบเขตของอำนาจอยู่เพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยี และระบบสื่อสาร ซึ่งไม่ครอบคลุมเรื่องของระบบเศรษฐกิจและสังคม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้มีขอบเขตอำนาจที่มากขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​

ทั้งนี้ในสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดดโดยมีส่วนราชการประกอบด้วยสำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานสถิติแห่งชาติ   และ  ให้ยกเลิก กระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร และให้ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติครม.ของสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และของข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้าง  ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ด้าน นายโกศล เพ็ชรสุวรรณ์ สนช.กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อและขอบเขตการทำงานเพราะในปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นที่รวบรวมข้อมูลบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นเป็นโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านความมั่นคง ล้วนแต่ต้องใช้เทคโนโลยีทั้งสิ้น โดยในปีที่ผ่านมาจากข้อมูลของหอการค้า ได้ระบุว่าระบบเทคโนโลยีดิจิตอลมีมูลค่าทางธุรกิจถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาของ แต่ที่ผ่านมาการบริหารงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังขาดทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความเป็นเอกภาพ และพัฒนาให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จึงขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว

นายมณเฑียร บุญตัน สนช. ให้ความเห็นว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมเปลี่ยนชื่อ โดยมีความเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ไม่ได้มีหลักอธิบายว่าเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ดิจิทัล” เพราะอะไร อีกทั้งชื่อของกระทรวงไอซีทีเป็นชื่อที่ได้รับการตกผลึก และมีอยู่ในข้อตกลงระหว่างประเทศด้วย การเปลี่ยนชื่อดังกล่าวอาจจะเป็นการสร้างความสบสนให้กับประชาชน เหมือนในช่วงปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ.2545 ที่เพิ่งมีกระทรวงไอซีที ประชาชนชนก็งงตามๆกันว่าคืออะไร ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะอธิบายให้เข้าใจ

“ถ้าใช้ชื่อใหม่แล้วจะเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานอย่างแท้จริง ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เราสนับสนุนให้สมาชิกใช้ใช้เทคโนโลยีมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ใช้เพียงแค่การสื่อสารแบบออนไลน์ แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หรือรายงานต่างๆ ก็ยังเป็นกระดาษ ซึ่งอาจคิดเป็นเงินเกือบหลายแสนจนถึงล้าน สามารถซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ หากจะทำให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็คงเป็นเรื่องน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง”นายมณเฑียร กล่าว

น.พ.เจตน์ ศิธรรานนท์ สนช. กล่าวว่า ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อแต่การดำเนินงานก็ยังคงอยู่ในโครงสร้างของหน่วยงานราชการ การที่จะหาบุคลากรที่เข้ามารับตำแหน่งหน้าที่ในกระทรวงนี้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกคนที่มีความสามารถสูง แต่ด้วยระบบของข้างราชการไทยไม่สามารถคัดเลือกคนเก่งแบบที่บริษัทเอกชนทำได้ ต้องอาศัยบุคลากรที่โตขึ้นมาด้วยระบบ การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้ดูถูกเจ้าหน้าที่กระทรวง แต่หมายความว่าคนที่จะมาเป็นหัวหลักนั้นจะต้องเป็นคนมีความสามารถจริงๆ จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้