posttoday

แนะ"บิ๊กตู่"ยกร่างรธน.ฉบับปชช.ทำประชามติแข่งฉบับท่าน"มหาปราชญ์"

30 เมษายน 2558

"วัฒนา เมืองสุข"แนะ ประธานคสช.แก้รธน.ชั่วคราว เปิดโอกาสยกร่างรธน.ฉบับของประชาชนอีกฉบับหนึ่งก่อนทำประชามติแข่งกับรธน.ฉบับท่าน "มหาปราชญ์"

"วัฒนา เมืองสุข"แนะ ประธานคสช.แก้รธน.ชั่วคราว เปิดโอกาสยกร่างรธน.ฉบับของประชาชนอีกฉบับหนึ่งก่อนทำประชามติแข่งกับรธน.ฉบับท่าน "มหาปราชญ์"

วันที่ 30 เม.ย. นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ เขียนบทความ เรื่อง"จากนักการเมืองชื่อ วัฒนา ถึงประธาน คสช." ว่า หลังจากที่ผมได้เขียนบทความเรื่อง "คำถามจากนักการเมือง" แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าเหตุใดจึงออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ 1. ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย 2. ทำให้การเมืองอ่อนแอ 3. ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากประชาชนไม่มีอำนาจ เพราะเอาไปประเคนให้กับองค์กรและคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชน 4. จัดตั้งองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมามากมายถึง 11 องค์กร มีอำนาจมากมายมหาศาลเพื่อเสวยอำนาจของประชาชนและสืบทอดอำนาจเผด็จการ แต่กลับมิได้สร้างกลไกตรวจสอบหรือถ่วงดุลองค์กรเหล่านั้นและ 5. ออกแบบให้อำนาจเผด็จการให้ยืนยงสถาพรโดยกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำด้วยความยากเย็นแสนเข็ญซึ่งเท่ากับการห้ามแก้โดยปริยาย หลังจากแสดงความคิดเห็นแล้วผมรอฟังคำตอบจากท่าน "มหาปราชญ์" ทั้ง 36 ท่าน จนบัดนี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่ตรงประเด็น คงมีคำตอบแบบขอไปทีจากท่านประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า "อยากเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อนอย่างน้อย 5 ปี แล้วค่อยแก้ไขและถ้าบ้านเมืองเกิดความปรองดองก็อาจจะกลับมาแก้ไขให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง"

ผมได้ฟังแล้วก็ "สิ้นหวัง" แต่เนื่องจากหลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้มากแล้วผมจะไม่เสียเวลาพูดถึงอีก และก็บังเอิญอีกเช่นกันที่มีสื่อมวลชนบางฉบับเขียนคอลัมน์เป็นทำนองว่า อดีตรัฐมนตรีที่เขียนบทความเรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับผลัดกันเกาหลัง" ทำให้ท่านประธาน คสช หงุดหงิดเพราะ "อ่านแล้วไม่สร้างสรรค์ ไม่เคยรับความผิดพลาดบกพร่องของตัวเอง" ผมจึงขออนุญาตเขียนบทความนี้ถึงท่านประธาน คสช เป็นครั้งแรกเพราะบทความที่สื่อไปอ้างว่าทำให้ท่านหงุดหงิดนั้นผมเป็นคนเขียนเอง แต่ขอเขียนถีงท่านในฐานะกัลยาณมิตรผู้มีความประสงค์ร่วมกันที่อยากเห็นประเทศชาติมีความสงบร่มเย็น อยากเห็นคนไทยมีความรู้รักสามัคคีและอยากเห็นประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศ ผมขออนุญาตเขียนถึงท่านด้วยความหวังเพราะสิ้นหวังที่จะไปพูดกับท่าน "มหาปราชญ์" ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนี้

1. ผมไม่คิดว่าตัวเองมีความสำคัญขนาดไปทำให้ท่านหงุดหงิด และไม่คิดว่าอดีตรัฐมนตรีที่ท่านเอ่ยถึงเป็นผม เพราะบทความของผมล้วนวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมาธิการยกร่างทั้งสิ้นไม่เคยกล่าวพาดพิงถึงท่าน ผมคิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้คิดเองทำเองเข้าทำนอง "หนุมานเหาะเกินกรุงลงกา" เขียนรัฐธรรมนูญให้มีการสืบทอดอำนาจโดยเอาอำนาจของประชาชนมาหมกไว้กับองค์กรทั้งหลาย คิดเอาเองว่าท่านคงอยากสืบทอดอำนาจต่อไปเลยถือโอกาสนี้ขอเสวยอำนาจที่แอบขโมยไปจากประชาชนด้วย ทำให้ท่านและ คสช ได้รับความเสียหาย 

2. ยิ่งเมื่อผมมาอ่านคำให้สัมภาษณ์ของท่านจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่เขียนตรงกันเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าท่านไม่ขัดข้องกับการแก้ไข "อยากจะแก้เมื่อไหร่ก็แก้เถอะ ท่านเลือกตั้งเข้ามาแล้ว เขาเขียนไว้หรือเปล่าว่าห้ามแก้ แก้สิ่งที่ควรแก้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ควรแก้" ส่วนการทำประชามตินั้นหากกรรมาธิการยกร่างและ สปช ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าควรทำประชามติ ก็ส่งเรื่องมาท่านจะเสนอ สนช เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวทำประชามติ แสดงว่าท่านมีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยเพราะยอมรับในอำนาจของประชาชนที่เลือกตัวแทนเข้ามาและพร้อมจะถามประชาชน ทำให้ผมมีความหวังยิ่งขึ้นที่จะได้เห็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้การยอมรับอันจะนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติในที่สุด

3. ท่านเคยได้ยินเสียงแสดงความชื่นชมรัฐธรรมนูญจากบุคคลทั่วไปหรือไม่ ข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าถามผมก็เห็นจะมีเพียงอย่างเดียวคือทำให้คู่ขัดแย้งคิดเหมือนกันโดยมิได้นัดหมายคือ "ต่างไม่เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้" เสียงสรรเสริญแสดงความพึงพอใจมีเฉพาะมาจากพวกเดียวกันเองเข้าตำรา "ร่วมกันอวย เพราะช่วยกันขโมยอำนาจประชาชน" นี่ครับ

4. ผมเชื่อโดยสุจริตว่า การที่ท่านและคณะต้องตัดสินใจยึดอำนาจเพราะต้องการยุติความขัดแย้งของคนในชาติ อยากเห็นการปฏิรูปประเทศ อยากเห็นคนในชาติมีความปรองดองและอยากเห็นชาติบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ซึ่งตรงกันกับความปรารถนาของคนไทยทุกคนรวมทั้งผมด้วย ที่สำคัญผมเชื่อว่าท่านไม่เคยคิดจะสืบทอดอำนาจ เพราะท่านได้แสดงเจตนามาโดยตลอดว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนตามโรดแมป แต่ถ้าท่านปล่อยให้ "มหาปราชญ์" ทั้งหลายบรรเลงกันไปตามอำเภอใจแบบนี้ ประชาชนจะเข้าใจท่านและ คสช ผิดอย่างแน่นอน ผมจึงขอเสนอความเห็นประกอบกับสิ่งที่ท่านคิดจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชามติ ในอันที่จะทำให้กระบวนการมีความสมบูรณ์ในคราวเดียวโดยไม่ทำให้เปลืองงบประมาณและเสียเวลาของประชาชน ผมมีข้อเสนอให้ท่านพิจารณา ดังนี้

4.1 การทำประชามติเพียงว่า "เอา" หรือ "ไม่เอา" รัฐธรรมนูญ หากประชาชนไม่เอาก็ต้องกลับมาแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนับหนึ่งยกร่างขึ้นมาใหม่ซึ่งก็ไม่รู้ว่าประชาชนจะเอาด้วยอีกหรือไม่ ที่สำคัญอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นแผนทำให้ท่าน คสช และคณะรัฐมนตรีได้อยู่ในอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี ท่านจะได้รับความเสียหาย

4.2 ท่านควรถือโอกาสนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนอีกฉบับหนึ่งที่มีความเป็นประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอย่างชัดเจนและมีดุลยภาพ เคารพกฎหมายระหว่างประเทศและมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพและความรับผิดชอบ แล้วนำไปทำประชามติแข่งกับรัฐธรรมนูญฉบับสารพัดฉายาของท่าน "มหาปราชญ์" คณะนี้ คำตัดสินของประชาชนจะเป็นคำตอบว่าประชาชนอยากมีสถานะเป็นพลเมืองตามที่ท่านเหล่านั้นพยายามโอ้อวดหรือไม่ และจะได้รู้กันเสียทีว่าที่อ้างไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้วเอามาเขียนน่ะจริงมั้ย

4.3 เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มีความสมดุลในการทำประชามติ คณะกรรมาธิการยกร่างจำนวน 36 คน ส่วนหนึ่งจะต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนเพื่อให้แตกต่างจากชุดสารพัดฉายา ผมเสนอองค์ประกอบว่าจำนวนครึ่งหนึ่งคือ 18 คน เอามาจากตัวแทนประชาชนตามสัดส่วนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก่อนการรัฐประหาร จำนวนอีก 18 คน มาจากตัวแทนนักวิชาการและวิชาชีพที่ไม่เคยเป็นและไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเปรียบเทียบกับฉบับ "มหาปราชญ์" และมีกระบวนการให้ความรู้กับประชาชนก่อนลงมติ

4.4 ท้ายสุดผมขอให้กำลังใจและส่งความปรารถนาดีไปยังท่าน อยากบอกท่านว่าอนาคตของประเทศนี้อยู่ในมือของท่านแล้ว หากท่านต้องการยุติความยัดแย้งเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ท่านสามารถกระทำได้ด้วยการให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายโดยเสมอกัน ความยุติธรรมที่ผมว่าจะต้องอยู่บนหลักนิติธรรม (rule of law) ไม่ใช่ความยุติธรรมตามกฎหมายที่ร่างกันขึ้นมาตามอำเภอใจ อย่างนั้นเค้าเรียกว่าบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย (rule by law) ที่ปราศจากความชอบธรรม (legitimacy) ดังสุภาษิตกฎหมายละตินที่ว่า "อำนาจควรตามหลังความยุติธรรมไม่ใช่นำหน้า (Sequi debut potential justitiam, non precedere)"

ผมเชื่อโดยสุจริตว่าหากท่านดำเนินการตามที่ผมเสนอมา ประชาชนชาวไทยจะชื่นชมและยกย่องท่านในฐานะรัฐบุรุษอย่างแน่นอน แต่ผมเชื่อว่าท่านคงไม่ได้มีความปรารถนาจะเป็นอะไรมากกว่าการเป็นคนไทยที่เห็นประเทศไทยมีความสงบร่มเย็นและปรองดอง ซึ่งหากท่านทำตามที่ผมเสนอผมเชื่อท่านจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอน เพราะหลักการสำคัญอันเป็นหัวใจของการปรองดองคือความยุติธรรมและหลักนิติธรรมซึ่งผมหาไม่เจอในรัฐธรรมนูญฉบับ "มหาปราชญ์" เลยครับ