posttoday

เทียนฉายย้ำปฏิรูปต้องทำต่อเนื่องไม่ให้เสียของ

28 เมษายน 2558

"เทียนฉาย" ลั่น ปฏิรูปไม่เสียของต้องทำต่อเนื่อง เผยเป็นเชลยสืบทอดงาน ไม่ใช่สืบทอดอำนาจ

"เทียนฉาย" ลั่น ปฏิรูปไม่เสียของต้องทำต่อเนื่อง เผยเป็นเชลยสืบทอดงาน ไม่ใช่สืบทอดอำนาจ

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี การบรรยายพิเศษ เรื่อง จุดเปลี่ยนท้องถิ่นไทยกับการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย นายเทียนฉาย กีระนันทน์  ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การปฏิบัติงานของ สปช. ไม่ได้เป็นอิสรภาพ เพราะต้องดำเนินการตามกรอบในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กระทั่งมีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 17 -26 เม.ย. ที่ผ่านมา แบบ 7 วัน 7 คน ซึ่งหลังจากนี้ภายใน 15 วัน สปช. จะต้องยื่นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหรือแปรญัตติ ซึ่งสามารถยื่นได้ 8 ญัตติ เท่านั้น เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะต้องยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์กลับมาอีกครั้งในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อให้ สปช. พิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายในวันที่ 6 ก.ค. นี้ ซึ่งหาก สปช. ไม่เห็นชอบ ก็จะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ตั้ง

นายเทียนฉาย ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 3 ประการ คือ 1. ตั้งแต่เริ่มต้น สปช. ได้ระดมความคิดเห็นจาก สปช. และประชาชน เพื่อเสนอต่อคณะกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งข้อเสนอที่เกี่ยวกับการปฏิรูปจะถูกจำแนกส่งไป กมธ. ปฏิรูปด้านต่างๆ 18 คณะ ของสปช. อย่างไรก็ตามในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ 7 วันที่ผ่านมา บางประเด็นได้รับการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่บางประเด็นก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ฉะนั้นต้องเข้าใจว่าถ้าเขียนรัฐธรรมนูญตามที่ทุกคนเสนอ รัฐธรรมนูญคงยาว

"นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย แม้จะเป็นผลพวงจากรัฐประหาร  นี่จะเป็นประโยชน์มากๆ บางความเห็นก็ถูกกรองในร่างรัฐธรรมนูญ บางทีมันกรองลงไป ไม่ใช่ของตนเสียทีเดียว แต่ก็ผสม ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญตามที่ทุกคนเสนอจะยาวแค่ไหน " ประธาน สปช. กล่าว

2. สมาชิก สปช. เห็นตรงกันว่าการปฏิรูปไม่ใช่มองเฉพาะวันนี้ แต่จะต้องมองถึงอนาคตของประเทศ จนเกิดเป็นวิสัยทัศน์ของประเทศไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุ และปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น  และ 3. สปช. จะต้องผลักดันวาระปฏิรูป  36 วาระปฏิรูป และ 7 วาระพัฒนา ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง

"ปฏิรูปอย่างไรจะไม่เสียของ ไม่ใช่รอเลือกตั้งแล้วจบ หลายคนถามว่านี่คือการสืบทอดอำนาจใช่ไหม ซึ่งผมตอบเลยว่า เป็นเชลย เชลยสืบทอดงานของชาติ ไม่ใช่สืบอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีภาคหนึ่งที่เขียนไว้โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย"นายเทียนฉาย ระบุ