posttoday

"วัฒนา"ชำแหละร่างรธน.เครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ

24 เมษายน 2558

แกนนำพรรคเพื่อไทย"วัฒนา เมืองสุข" ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ

แกนนำพรรคเพื่อไทย"วัฒนา เมืองสุข" ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ
 
นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญ "เครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ" ความเลวร้ายที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการออกแบบให้มีการสืบทอดอำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบผ่านองค์กรที่เรียกว่า "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ" ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เพื่อใช้อำนาจเผด็จการต่อไปบนกระบวนการที่ถูกอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณานี้เป็นเครื่องมือ ดังนี้

1. องค์ประกอบและที่มาขององค์กรและคณะกรรมการ ล้วนมาจากฝ่ายเผด็จการทั้งสิ้นในขณะที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในการคัดเลือกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ประกอบด้วย

1.1 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 120 คน มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 30 คน ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ จำนวน 30 คน

1.2 คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่เกิน 15 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทางแต่งตั้งตามมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

2. องค์กรดังกล่าวมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย โดยมีอำนาจในการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (หมายความรวมศาลได้ด้วย) จึงเป็นกรอบอำนาจที่กว้างขวางมากเนื่องจากทุกเรื่องที่รัฐบาลดำเนินนโยบายล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทั้งสิ้น ดังนั้น รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงตุลาการจึงต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายเผด็จการต่อไปอีกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการนำเอามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใส่ไว้ในองค์กรที่ตั้งขึ้นนี้เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป

3. อำนาจขององค์กรนี้มีไปจนกว่า "การปฏิรูปประเทศจะบรรลุผล" ตามมาตรา 279 แต่ไม่เกิน 5 ปีเว้นแต่จะมีประชามติเห็นชอบให้มีต่อไปอีกไม่เกิน 5 ปี เท่ากับมีอำนาจครอบงำประเทศนี้ต่อไปอีกอย่างน้อยสองรัฐบาล

4. อำนาจของสภาขับเคลื่อนฯ นี้เป็นอำนาจเผด็จการที่เด็ดขาด เจ้าของอำนาจคือตัวแทนประชาชนไม่มีสิทธิต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือ
4.1 เมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอแล้ว ครม. จะต้องดำเนินการตามข้อเสนอและต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการให้อย่างเพียงพอ ถ้า ครม. ขัดข้องต้องแจ้งเหตุผลต่อรัฐสภาและสภาขับเคลื่อนฯ แต่ถ้าองค์กรนี้ยืนยันว่าต้องทำด้วยเสียง 3/4 ครม. ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ผลออกมาเป็นอย่างไรให้ทุกฝ่ายปฏิบัติไปตามนั้น
4.2 หากเห็นว่าจำเป็น สภาขับเคลื่อนฯ มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาโดยเสนอผ่านวุฒิสภา (ซึ่งเป็นพวกเดียวกันและมาจากการสรรหา) หากวุฒิสภาเห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่สภาผู้แทนที่มาจากประชาชนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวให้ส่งคืนไปยังวุฒิสภา หากวุฒิสภายืนยันด้วยเสียง 2/3 ก็ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
4.3 หากร่างพระราชบัญญัติที่เสนอเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน ให้เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อให้คำรับรองภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดไม่แจ้งผลให้ถือว่านายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง

5. กระบวนการทั้งหมดคือการปล้นอำนาจของประชาชนอีกครั้ง เอาไปมอบให้กับเผด็จการที่สืบทอดอำนาจผ่านองค์กรที่ตั้งขึ้นในนามของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ทำให้ตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งคือสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหาร และอาจลามไปถึงอำนาจตุลาการเพราะอยู่ในความหมายของคำว่า "หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" ได้ด้วย ไม่มีอำนาจโดยสิ้นเชิงเป็นการมัดมือชกอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยโดยกลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นโดยฝ่ายเผด็จการทั้งสิ้น 

6. ประการสำคัญสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างเครื่องมือหรือกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งต่างจากการใช้อำนาจของตัวแทนที่มาจากประชาชนที่มีกลไกทั้งการจับผิดและการตรวจสอบจนทำงานไม่ได้ จึงขอถามประชาชนชาวไทยว่า "ท่านจะยอมให้บุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" กำหนดกฏเกณฑ์กติกาที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ ปล้นอำนาจของท่านไปอีกครั้งหนึ่งนำไปมอบให้กับองค์กรและคณะบุคคลที่ท่านไม่มีส่วนในการแต่งตั้งหรือคัดสรรแม้แต่น้อย ใช้อำนาจนั้นครอบงำปู้ยี่ปู้ยำประเทศนี้ต่อไปเป็นเวลาอีกอย่างน้อย 5 ปีอย่างนั้นหรือ"