posttoday

สปช.เปรียบร่างรธน.เป็นบัวลอยไข่หวานมีขี้จิ้งจก

23 เมษายน 2558

สปช.​เปรียบร่าง รธน. เป็นบัวลอยไข่หวานมีขี้จิ้งจก ชี้ระบบเลือกตั้งบีบให้เกิดการตั้งพรรคนอมินี ​

สปช.​เปรียบร่าง รธน. เป็นบัวลอยไข่หวานมีขี้จิ้งจก ชี้ระบบเลือกตั้งบีบให้เกิดการตั้งพรรคนอมินี ​ 

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่างรัฐธรรมนูญ โดย นายนิรันดร์ พันธกิจ สมาชิกสปช. อภิปรายว่า ​ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนบัวลอยไข่หวาน ไข่ก็สด แป้งก็ดี  แต่มันมีขี้จิ้งจกอยู่ 6-7 เม็ด ​ อาทิ เอาหมวดพระมหากษัตริย์ไปปนกับประชาชน  ทั้งที่ผ่านมามีรัฐธรรมนูญ10 กว่าฉบับก็แยกออกจากกันทุกครั้ง และเชื่อว่ามีกรรมาธิการบางคนก็ไม่เห็นด้วยเหมือนตนในประเด็นนี้

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนบนสมมุติฐานที่ว่ารัฐบาลเข้มแข็งเกินไป จึงต้องทำให้รัฐบาลอ่อนแอ แต่ความจริงเราต้องทำให้รัฐบาลเข้มแข็งเหมือนประเทศอื่นๆ  ทำอย่างไรให้เขาใช้ความเข้มแข็งด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และตรวจสอบถ่วงดุลได้

นายนิรันดร์​กล่าวว่า ​การเอาระบบเลือกตั้งเขตจากเยอรมัน ระบบโอเพ่นลิสต์จากเนเธอร์แลนด์ไม่รู้เป็นสัตว์ประหลาดอะไร จะแบบไหนก็ตามต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของสังคม นั้นๆ เยอรมันได้ประสบกาณ์จากนาซีมันคนละแบบกับเรา ส่วนปาร์ตี้ลิสต์เพื่อเลือกอีกพรรคมาถ่วงดุล ตามวัฒนธรรมของเราภาคใต้แบบเขตละปาร์ตี้ลิสต์ก็ประชาธิปัตย์ หรือภาคอีสานทั้งแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ก็เพื่อไทย  มันคนละวัฒนธรรมกัน คนไทยไม่ชอบวิธีการซับซ้อน 

นายนิรันดร์ กล่าวว่า ระบบโอเพ่นลิสต์ในมาตรา 105 วรรคสอง 6 จะเกิดปัญหา 2 ประการ​คือ​​เกิดความแตกแยกในพรรคอย่างไร เพราะต่างคนต่างก็อยากได้เป็นสส. ก็ต้องแย่งกันหาเสียง และ เมื่อเป็นอย่างนั้นพรรคการเมืองก็ต้องหนีตายด้วยการสร้างพรรคนอมินีขึ้นมา​ ทั้งนี้ หากบรรดาขี้จิ้งจกเหล่านี้ยังไม่ถูกเอาออกหรือไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นก็จะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือต้องดูว่ามีได้รับการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า  ที่ระบุนายนิรันดร์ ระบุว่า​ ภาคใต้ สส.เขตก็พรรคประชาธิปัตย์ สส.บัญชีรายชื่อ ก็พรรคประชาธิปัตย์นั้น ภาคอีสาน สส.เขต และบัญชีรายชื่อ ก็พรรคเพื่อไทยนั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ  เห็นว่า เป็นระบบการเลือกตั้งที่ผิดพลาด

ทั้งนี้ ​ระบที่ผ่านมาเป็นแบบคู่ขนานกับเขต คือเขตได้แล้วก็แถมได้อีก  เพราะฉะนั้น ถือเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชน และมีความแปรปรวน  กมธ.จึงคิดกันว่าจะทำอย่าไงรให้คะแนนเสียงมีความยุติธรรม ให้แต่ละพรรคได้ความนิยมตามคะแนนเสียงที่แท้จริง ไม่ใช่จะตั้งใจไปกลั่นแกล้งพรรคใหญ่ หรือไปส่งเสริมพรรคเล็กตามที่มีการพูดกันก่อนหน้านี้

นายบวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธธรรมนูญ ชี้แจงว่า การที่มีการบัญญัติรวมหมวดกษัติย์กับประชาชนไว้เพราะหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เขียนไว้ชัดในมาตรา 3 ที่บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล"  ของร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ​พระมหากษัตริย์และประชาชนจึงเป็นรากฐานที่แท้จริงในระบอบการเมืองไทย ตั้งแต่ 2475 จนถึงวันนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปให้ความสำคัญกับประชาชนทั่วทั้งประเทศ  อีกทั้งนอกจากเป็นพื้นฐานของหลักการของประชาธิปไตยแล้ว ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย องค์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือรัชกาลที่ 7 ทรงโยงตัวพระองค์ท่านกับประชาชนทั้งหลาย ดังนั้น พระมหากษัตริย์ไทยจึงอยู่คู่กับประชาชน เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การเชื่อมโยงพระมหากษัตริย์และประชาชน เป็นภาค 1 ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในมาตรา 300 ที่บัญญัติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีการแยกการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็น 3 ส่วน โดยมาตรา 299 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ และรูปแบบของรัฐจะทำไม่ได้ และถ้าจะดำเนินการแก้ไขในส่วนภาค 1 นั้น มาตรา 302 บัญญัติว่า หากมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องให้ประชาชนมีการดำเนินการลงประชามติก่อน ตามหลักที่ว่าผู้แทนที่ราษฎรเลือกเข้ามา จะไปตัดสิทธิ์ของราษฎรไม่ได้ ซึ่งประชามติถือเป็นตัวประกันสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่พลเมืองเลือกเข้ามาต้องกลับไปถามพลเมืองว่าจะเห็นชอบหรือไม่

ทั้งนี้ โดยสรุปภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน นั้น เป็นการเชื่อมโยงตามที่รัชกาลที่ 7 พระราชทานเอาไว้ในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ที่ต้องการให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนชาวไทย และเป็นไปตามหลักการในมาตรา 3  และทำให้การแก้ไขเนื้อหาในส่วนดังกล่าวยากขึ้น  

นายวันชัย สอนศิริ สปช. กล่าวว่า เห็นด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับได้เป็นส่วนใหญ่ แต่มีประเด็นหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างแรง 121 ที่มาสว. แก้สว. ซึ่งย่ำเท้าอยู่กับที่วังวนเดิม แทบไม่แก้เลือกตั้ง 77 จังหวัด  รวมกับสรรหา ​ แก้นู่นนิดหน่อย แต่งหน่อยสาระสำคัญเหมือนเดิม ​ต่างกันที่จำนวน​ที่ผ่านมา ระบบเลือกตั้ง กับ สรรหา เหมือนปลาสองนำ้ แต่ตอนนี้กำลังเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นปลาหลายน้ำ  ​

ทั้งนี้ การสรรหาเพียวๆ ไม่เคยใช้เพราะจะถูกมองว่าไม่ยึดโยงกับประชาชนจึงขอเสนอวิธี ​เลือกตั้งแบบสาขาอาชีพ  ​จัดกลุ่มเป็น ครู อาจารย์​ แพทย์ นักกฎหมาย นักการเมือศาสนา ชาวนา พ่อค้า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะได้คนหลากหลาย มีวุฒิภาวะกลั่นกรองจริง ๆ และ ไม่มีใครดูถูกไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่ควรจะใช้ของล้มเหลวแล้วมาทำอีก อีกท้ังอำนาจสว.​ควรเป็นตามรัฐธรรมนูญเดิม คือแต่งตั้งใครถอดถอน คนนั้น นักการเมืองไม่ได้แต่งตั้งก็ไม่ควรไปถอดถอน ​ไม่ควรไปออกกฎหมาย ไม่ควรไปตรวจสอบประวัติครม. ​ร่างรัฐธรมนูญต้องแก้ปัญหาไม่ใช่สร้างปัญหา ​