posttoday

"รสนา" ติงดึงรธน.สุดโต่งดึงขรก.ถ่วงดุลการเมือง

21 เมษายน 2558

"รสนา" ติง รัฐธรรมนูญสุดโต่ง ดึงข้าราชการถ่วงดุลการเมือง ตัดฝ่ายการเมืองร่วมแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง

"รสนา" ติง รัฐธรรมนูญสุดโต่ง ดึงข้าราชการถ่วงดุลการเมือง ตัดฝ่ายการเมืองร่วมแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง 

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 2 หมวด 1 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมืองที่ดี โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า จากผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ประเทศพัฒนาที่พัฒนาจะมีการคอร์รัปชั่นต่ำ แต่มีการกระจายอำนาจสูง

อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาไม่ได้แก้ไขปัญหาของประเทศ แต่กลับสร้างพรรคการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ชัดนำกลุ่มทุนเข้ามาครอบงำการเมือง เรียกว่า "ทุนสามานย์" จนนำไปสู่การรัฐประหาร

คณะกมธ.ยกร่างฯ จึงได้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมทางการเมืองดังโครงสร้างและกลไกในร่างรัฐธรรมนูญ คือการจำกัดอำนาจของนักการเมือง โดยนำระบบราชการมาถ่วงดุลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่าข้าราชการจะถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนหรือไม่ ดังนั้นตัวบ่งชี้การเมืองที่ดีจะต้องมีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อย ไม่ใช่การนำระบบข้าราชการมาปรับใช้ เพราะจะกลายเป็นอำมาตยาธิปไตยที่ประชาชนเบื่อหน่าย

"มาตรา 207 การตั้งกรรมการคัดสรรข้าราชการระดับสูง ดิฉันคิดว่าสุดโต่งเกินไป ควรติดฝ่ายการเมือง อาจบัญญัติให้ รัฐมนตรีกระทรวงนั้นเข้ามามีส่วนร่วม  นอกจากนั้นถ้ายึดระบบคุณธรรม ไม่ใช่อาศัยเพียงอดีตข้าราชการระดับสูงมาคัดสรร แต่ควรฟังเสียงประชาคมในแต่ละกระทรวงด้วย"น.ส.รสนา กล่าว

นอกจากนั้นข้อสังเกตของร่างรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 172 ระบุให้บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องอาศัยเสียงสภาฯ เกินกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นบุคคลภายนอกจะต้องอาศัยเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 แต่ไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งควรได้รับการโหวตเลือกก่อน ทั้งนี้ในมาตรา 173 ระบุว่าถ้าเสียงไม่ถึงที่กำหนด ให้ประธานสภาฯ นำชื่อบุคคลที่ได้เสียงมากที่สุดทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตามประเด็นนี้อาจไม่แก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น เพราะอดีตบุคคลที่ได้รับการโหวตจาก สส. ในสภาฯ ประชาชนไม่ยอมรับ

สำหรับวิธีการเลือกตั้งที่คณะกมธ.ยกร่างฯ ออกแบบมาหลากหลาย เพื่อป้องกันการซื้อเสียง โดยเฉพาะที่มาของ สว. เช่น กำหนดโควตาจากการเลือกกันเองของสภาวิชาชีพ ที่มีจำนวนไม่เกิน 30 องค์กร ซึ่งอาจมีการซื้อเสียงได้ ยกตัวอย่างเช่น การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังมีการซื้อเสียงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตนไม่ปฏิเสธหาก สว. จะมาจากการสรรหาทั้งหมด แต่จะต้องมีอำนาจน้อย เพราะจะเกิดคำถามตามมาว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่กลับสามารถออกกฎหมาย อีกทั้งยังสามารถถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับตัดขาดตัวแทนของประชาชนในสภาฯ และฝ่ายบริหาร

ประเด็นสุดท้าย คือ บทบัญญัติในส่วนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ คณะกมธ.ยกร่างฯ ได้รวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ในส่วนนี้ทั้งหมด ซึ่งตนเสนอว่า ควรแยกเรื่องปิโตรเลียมไว้ในส่วนของสิทธิของประชาชน เพราะมีมูลค่าปีละกว่า 5 แสนล้านบาท จึงควรได้รับการบริหารจัดการอย่างดีโดยรัฐ ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐจะมีข้าราชราชการที่ดีและมีความสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ