posttoday

สปช.หนุนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

24 มีนาคม 2558

สปช. ชงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หนุนปฏิรูปศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขจัดความซ้ำซ้อน ล่าช้า

สปช. ชงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หนุนปฏิรูปศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขจัดความซ้ำซ้อน ล่าช้า

วันที่ 24 มี.ค. ณ รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการศึกษาเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ฯ กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ประชาชนไม่มีความปลอดภัยทางทรัพย์สินมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายกันมาก มีคนจำนวนไม่น้อยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีจิตวิญญาณในการปฏิบัติหน้าที่ จึงสมควรต้องมีการปฏิรูปกระบวนทั้งระบบ โดยองค์กรและเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมต้องปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุง แนวทางบริหารองค์กรและวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมให้ มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายให้มีมาตรฐาน และปรับปรุงกระบวนการร่างและแก้ไขกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพราะมีการกระทำผิดกฎหมายกันมาก รวมถึงมีการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายภาคส่วน

นอกจากนี้ยังมีการปฏิรูปองค์กรและกระบวนการยุติธรรมก่อนชั้นศาล คือปฏิรูปองค์กรอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)  ทนายความ และหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย หรือร่างกฎหมายใหม่ ขององค์กรดังกล่าว เนื่องจากระบบสอบสวนที่แยกส่วนระหว่างพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ ทำให้การสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะในคดีที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย ในการเพิ่มอำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการ ให้มีอำนาจในการลดปัญหาและยุติปัญหาทางคดีความก่อนนำคดีไปสู่ศาล รวมทั้งมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลมากเกินไป ทำให้คดีค้างพิจารณาจำนวนมาก จึงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนในคดีสำคัญ โดยให้พนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน และการเข้าสอบสวนคดีตามที่กฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการ ปฏิรูปกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ และชั้นศาลให้สามารถใช้หลักประกันเดียวกันได้ตลอดทั้งคดี  ปฏิรูปมาตรการทดแทนการสั่งฟ้องคดี เช่น การไกล่เกลี่ย การชะลอการฟ้องเพื่อลดปริมาณคดีสู่ศาล รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรอัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งการปฏิรูปครั้งจะช่วยลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ทำให้ศาลสามารถตัดสินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนจนเข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้น และขจัดปรากฏการณ์ความยุติธรรม 2 มาตรฐานทำให้ฐานะทางการเงินไม่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความยุติธรรม ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือก.ค.58

ส่วนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานอนุกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล กล่าวว่า คณะอนุกมธ.ฯ ได้พิจารณากระบวนการในชั้นศาล 4 ศาล คือ ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ศาลทหาร คณะอนุกมธ.ฯ ไม่มีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการในศาลทหาร เพราะกระบวนมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะศาลทหารในสถานการณ์ปกติ ที่พิจารณาเฉพาะการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรบัญญัติให้นำแนวกระบวนการในศาลยุติธรรมและศาลปกครองมาปรับใช้กับศาลทหาร สิ่งที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วไม่ควรไปยุ่ง 2. ศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ที่ส่วนหนึ่งมาจากคณบดีคณะนิติศาสตร์ เนื่องจากปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาจำนวนมาก จึงต้องวางกรอบให้ชัดเจน 3. ศาลปกครอง จะต้องวางรากฐานให้เกิดความมั่นคง โดยเริ่มพัฒนาผู้พิพากษาในแต่ละขั้นตอนให้เกิดประสิทธิภาพ แทนการนำบุคคลจากองค์กรอื่นเข้ามาปฏิบัติงานในศาลปกครองอย่างเป็นระบบ และ 4. ศาลยุติธรรม ปฏิรูปให้ผู้พิพากษาเกษียณอายุ 70 ปี แต่หลังจากอายุ 60 ปี จะต้องไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ในศาลชั้นต้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการยุติธรรมในศาลชั้นต้น

สำหรับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในองค์กรอิสระ นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ประธานอนุกมธ. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดความซ้ำซ้อนและล่าช้า ทั้งนี้จะต้องปฏิรูปอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

อย่างไรก็ตามสมาชิก สปช. เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ. ปฏิรูปกฎหมายฯ ซึ่งจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ลบล้างวาทกรรมกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน รวมถึงการมุ่งสร้างกระบวนการไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาทแทนการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้จะมีการพิจารณารายงานของ กมธ. ปฏิรูปกฎหมายฯ อีกครั้ง ในสิ้นเดือน พ.ค. นี้