posttoday

นายกฯน้อมนำปรัชญาพอเพียงลดเสี่ยงภัยพิบัติโลก

14 มีนาคม 2558

นายกฯประชุมสหประชาชาติลดเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่3น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

นายกฯประชุมสหประชาชาติลดเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่3น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2558 เวลา 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (the Third UN World Conference on Disaster Risk Reduction) ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่น ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย สำหรับการจัดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ การมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพื่อแสดงความพร้อมและความตั้งใจจริงของรัฐบาลและประชนชาวไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในทุกมิติ ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนเฮียวโกะมาโดยตลอด และได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเตรียมการของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น ผลจากการประชุมที่กรุงเทพฯ จึงเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการกำหนดกรอบความร่วมมือฉบับใหม่ในครั้งนี้

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ประสบภัยและผู้ให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ภัยพิบัติ พายุไซโคลนนากิสในเมียนมาร์ เหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย เหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น และพายุไต้ฝุ่นไฮเยี่ยนในฟิลิปปินส์ ล้วนย้ำเตือนว่า เราไม่อาจละเลยเพิกเฉยต่อภัยธรรมชาติ  เหตุภัยพิบัติในที่หนึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อไปยังอีกหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก

บทเรียนจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ทำให้ไทยพบว่า การป้องกันคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด  ดังนั้น รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างมีบูรณาการและยั่งยืนโดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งขยะในแม่น้ำ และขุดลอกคูคลองเพื่อการระบายน้ำที่ดี รวมถึงศึกษาแนวทางโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ เช่น โครงการแก้มลิงเพื่อพักน้ำ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประสบการณ์ของไทยว่า เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ  ต้องมีการเตรียมการวางแผนไว้ก่อน เราจะต้องจัดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม  ไม่ว่าจะเป็นการเงิน สิ่งของ และการบริการทางการแพทย์  การจัดเส้นทางอพยพ  พื้นที่รวมพล พื้นที่รองรับผู้ประสบภัยระยะสั้น ระยะยาว  การจัดให้มีเครื่องมือให้ความช่วยเหลือที่พร้อมและทันสมัย ยานพาหนะ  สถานที่จอดเฮลิคอปเตอร์ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงกรอบกฎหมายภายใน และวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละประเทศด้วย รวมทั้ง ต้องฝึกซ้อมการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ในยามวิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพ  ตลอดจนควรจัดทำทะเบียนทรัพยากรทั้งบุคคลและสิ่งของที่จะใช้ดำเนินงานความช่วยเหลือ เพื่อประกันความพร้อมในการระดมทรัพยากรยามจำเป็นและหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน

ดังนั้น ประเทศต่างๆ ควรพัฒนาเครือข่าย สายด่วน ช่องทางติดต่อระหว่างผู้นำ และจุดติดต่อสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และการแจ้งเตือนภัยที่ทันเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพระหว่างกัน โดยเฉพาะระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่เชื่อมโยงกันทั้งในและนอกภูมิภาค ผ่านเทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีอื่นๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก social media ในการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง เช่น สตรี เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ ได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม และเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น

ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะต้องลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การลงทุนจะต้องไม่ทำร้ายธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อชนรุ่นหลัง  ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนจะต้องไม่ขวางทางน้ำไหล ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นได้ภายหลัง การลงทุนจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร

ภาคประชาสังคมและนักวิชาการจะต้องช่วยสนับสนุนรัฐบาลทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบการดำเนินงาน ความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการดำเนินงานความช่วยเหลือ และในขณะเดียวกัน ก็ร่วมสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมเตรียมความพร้อมและการลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติให้แก่สาธารณชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แต่ละประเทศมีศักยภาพในการพัฒนาที่แตกต่างกัน ความร่วมมือระหว่างประเทศ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถ ระดมทรัพยากร รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ในกรอบอาเซียน ประเด็นเรื่องภัยพิบัติได้รับความสำคัญในอันดับต้น อาเซียนยึดมั่นในการอนุวัติกรอบความร่วมมือเฮียวโกะ และตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการโต้ตอบสถานการณ์ฉุกเฉิน (AADMER) อีกทั้งกองทุนสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสามเป็นเครื่องบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ให้เกิดการขาดแคลนอาหารเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในเอเชียและแปซิฟิก กองทุนเอสแคปสำหรับภัยพิบัติสึนามิและการเตรียมความพร้อมจากสภาพภูมิอากาศเป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งและประเทศไทยมีความภูมิใจที่ได้เป็นผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้งกองทุนดังกล่าว

ไทยได้พัฒนาภูมิความรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชนในการป้องกัน เฝ้าระวัง และรับมือภัยพิบัติ โดยยึดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นเรื่องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการสร้างความเข้มแข็งและภูมิต้านทานให้แก่ชุมชน ทรงสอนไม่ไปรบกวนธรรมชาติ  หากใช้ธรรมชาติมากเกินไป ก็จะเป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และต่อโลก จึงต้องอยู่อย่างพอเพียง เพราะหากเกิดผลเสียหายแล้ว การฟื้นฟูจะใช้เวลายาวนาน